เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 2/2560

Last updated: 1 ก.ค. 2562  |  1045 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 2/2560

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 2/2560 

เล่าสู่กันฟัง/คมสัน  หุตะแพทย์
ดิจิตอลเป็นมายา อนาลอกเป็นของจริง

ผมเติบโตขึ้นมาในยุคอนาลอก ทำวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ในยุคแรกโดยใช้กล้องถ่ายรูปที่เป็นกล้อง SLR : Single Lens Reflex ที่ต้อง load ฟิลม์สีเป็นม้วนๆ หนึ่งมี 36 รูป ถ่ายเสร็จต้องส่งไปล้าง ฟิลม์อัดภาพที่ร้าน เครื่องบันทึกเสียงก็เป็นเครื่องบันทึกเสียงที่ใช้เทปเป็นตลับ ตลับหนึ่งอัดได้นาน 30 นาที 60 นาที หรือ 90 นาที เทปมี 2 หน้า หน้า A เต็มก็ต้องสลับเป็นหน้า B แน่นอนว่ากล้องดิจิตอล และเครื่องบันทึกเสียงดิจิตอลในปัจจุบันสะดวกกว่า ประหยัดกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่มันเป็นมายาที่กำลังบั่นทอนและทำลายศักยภาพของมนุษย์เราลงไปอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว

ผมเริ่มทำวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติเมื่อ 20 ปี ด้วยกล้อง SLR ยี่ห้อ PENTAX รุ่น K1000 ซึ่งเป็นกล้อง SLR ที่ถูกสุดในยุคนั้น ตัวละ 5,000 บาท แต่ถ้ากล้อง SLR ที่เป็นยอดปรารถนาก็ต้อง NIKON รุ่นยอดนิยมก็ต้อง FM และ FM2 ราคาก็หมื่นกว่าบาท ซึ่งก็ได้มีไว้ใช้สมใจในเวลาต่อมา ฝีมือถ่ายภาพของผมก็ไม่ได้ดีขนาดช่างภาพมืออาชีพ แต่ก็ดีพอตัวที่จะเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพ ไปพร้อมๆ กับเป็นวิทยากรสอนการเขียน การทำสไลด์ประกอบเสียง (Power Point ในระบบอนาลอก) การทำวีดีโอ (โดยการใช้ม้วนเทป) ได้สอนคนในวงการ NGOs อยู่ไม่น้อย หลักการในการถ่ายภาพที่ผมสอนน้องๆ ในกองบรรณาธิการและผู้เข้า อบรมมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1.ถ่ายภาพให้ชัดเจน 2.ถ่ายภาพให้สวยงาม 3.ถ่ายภาพให้สื่อความ

  1. ถ่ายภาพให้ชัดเจน ให้คนดูรู้ว่าภาพที่ดูอยู่นั้นคืออะไร โดยไม่มีข้อสงสัย ข้อนี้ทำได้ไม่ยากนัก ถ้าตั้งใจ ตั้งสติก่อนถ่าย การใช้กล้อง ก็ตั้งกล้องในระบบกึ่งอัติโนมัติ ตั้งความเร็วกล้องไว้ที่ 125 ปรับรูรับแสงตามตัววัดแสงที่มีอยู่ในกล้อง ถ้าแสงน้อย ก็ใช้แฟลต โดยตั้งความเร็ว กล้องไว้ที่ 60 เปิดหน้ากล้องที่ 5.6 หรือน้อยกว่า

  2. ถ่ายภาพให้สวยงาม ข้อนี้ยากหน่อย ต้องรู้จักการใช้กล้อง SLR รู้จักการปรับความเร็วชัตเตอร์ และรูรับแสงให้สัมพันธ์กัน เช่น การถ่ายชัดลึก ชัดตื้น การถ่ายย้อนแสง ข้อนี้ยังรวมไปถึงทักษะในการวางองค์ประกอบภาพ มุมกล้อง ฯลฯ ซึ่งข้อนี้คือ ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างกล้องอนาลอก และกล้องดีจิตอล ในปัจจุบันที่มีระบบอัจฉริยะถ่ายภาพให้สวยได้ เพียงแค่เลือกเมนูก่อนหรือหลังการถ่ายภาพ โดยที่ไม่ต้องมีความรู้หรือทักษะก็ถ่ายรูปให้สวยได้

  3. ถ่ายภาพให้สื่อความ คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ภาพๆ เดียวแทนคำได้พันคำข้อนี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย มันเป็นทั้งศิลปะ เป็นทั้งทักษะและความสามารถของนักสื่อสาร สำหรับผม ผมถ่ายภาพเพื่อสื่อความหมาย ในการให้ข้อมูล สร้างการรับรู้ และกระตุ้นการประพฤติ ปฏิบัติ มากกว่าการเป็นศิลปะ จึงคำนึงถึงเรื่องราวที่ต้องการถ่ายทอดเป็นหลัก

การถ่ายภาพด้วยกล้อง SLR ที่ใช้ฟิลม์ในสมัยก่อน การจะกดชัตเตอร์แต่ละครั้ง ต้องทำด้วยความประณีตและตั้งใจ เพราะผิดพลาดไม่ได้ เพราะราคาฟิลม์และค่าล้าง ค่าอัดรูปแพง ถ่ายทิ้งถ่ายขว้างเหมือนปัจจุบันไม่ได้ การถ่ายภาพในระบบอนาลอกแต่ละครั้งจึงมาจากการตัดสินใจของคนถ่ายก่อนลงมือกดชัตเตอร์หลังจากปรับความเร็วและรูรับแสงของกล้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะได้ภาพที่เป็นของจริง แก้ไขในภายหลังไม่ได้ รูปที่ออกมาก็จะบ่งบอกตัวตนและฝีมือของคนถ่าย ไม่มีข้อแก้ตัว ซึ่งผิดกับภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลสมัยนี้ ภาพส่วนใหญ่ไม่ว่าใครเป็นคนถ่าย ภาพก็ออกมาสวย ด้วยระบบอัจฉริยะของกล้อง และยังสามารถปรับแต่งภาพให้ผิดแผกแตกต่างจากเดิมได้อีก จนอาจไม่เหลือเค้า เดิมของต้นฉบับ ทำให้คนสมัยนี้คิดว่าตัวเองถ่ายภาพสวย ถ่ายภาพเก่ง ซึ่งเป็นมายาคติที่อันตราย ยิ่งกล้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าไหร่ คนถ่ายก็ไร้ฝีมือมากขึ้นเท่านั้น
 
กล้องดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นกล้องจริงๆ หรือกล้องในมือถือ เป็นภาพสะท้อนของความอัจฉริยะของเทคโนโลยี ซึ่งแน่นอนว่ามาจากการคิดค้นและพัฒนาของมนุษย์ที่เก่งและฉลาดจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย ถึงแม้ว่าในด้านหนึ่งมันจะมีประโยชน์มากมายมหาศาล แต่ในอีกด้านหนึ่งความสามารถของเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังบั่นทอนและทำลายความสามารถและศักยภาพของมนุษย์ส่วนใหญ่ลงไปอย่างรวดเร็ว และได้สร้างมายาให้คนส่วนใหญ่หลงใหลในความเป็นอัจฉริยะของเทคโนโลยีที่ต้องวิ่งตามให้ทัน และมีไว้ในครอบครอง จนขาดแรงบันดาลใจที่จะค้นหา พัฒนา และเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและแยกแยะไม่ออกว่าอะไรคือมายา อะไรคือของจริง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้