Last updated: 26 ก.ค. 2562 | 4057 จำนวนผู้เข้าชม |
ปลูกผักอินทรีย์แบบมืออาชีพ กับปิยะทัศน์ ทัศนิยม ดินดี ผักงาม รายได้เกิด
“คนที่ชาญฉลาดที่สุดคือ คนที่พึ่งตนเอง คนที่มีอุดมการณ์ คนที่เพิ่มผลผลิตด้วยศักยภาพของพืช ไม่ใช่ด้วยศักยภาพของเทคโนอย่างเดียว ฉะนั้นคนที่ทำเกษตรอินทรีย์รุ่นผมจึง เป็นรุ่นที่ต้องการสร้างโลก ด้วยสองมือ รายได้เป็นเรื่องรอง”
คุณปิยะทัศน์ ทัศนิยม
พ่อปิยะทัศน์ ทัศนิยม ลูกหลานชาวอีสานจากเมืองดอกบัวที่เพิ่งขึ้นรับรางวัลคนดีมูลมังเมืองอุบล ปี 2561 สาขาการเกษตรอินทรีย์ เป็นเกษตรกรที่วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติไปขอความรู้อยู่บ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็ได้องค์ความรู้ใหม่ๆ มาเพียบครั้งนี้ยังพรั่งพร้อมด้วยเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ที่สอดรับกับยุคสมัยและเทคโนโลยีอย่างเข้าใจง่าย แม้วันนี้พ่อจะอายุหลักหกบ่งบอกว่าโตมาในยุคไหน แต่ทว่าพ่อก็ยังเปิดใจรับและก้าวทันเทคโนโลยีแบบไม่มีล้าสมัยแน่นอน เรียกว่าได้ใจเกษตรกรรุ่นใหม่ที่บริโภคเทคโนโลยีเป็นอาหารหลักกินข้าวเป็นอาหารเสริม
“กลับมาอยู่บ้าน คนก็ดูถูกเอาอีกว่า กลับบ้านมาเป็นเกษตรกร และไม่ทำเกษตรแบบเคมี เพราะเกษตรใช้สารเคมีไปไม่ได้เพราะมันทำอันตรายกับเรา กับสิ่งแวดล้อม เรารู้เพราะเราสังเกตเห็นและมันกระทบกับตัวเราเองด้วย พอมาทำเกษตรอินทรีย์ คนก็ยิ่งดูถูกว่า คนบ้า ผมเฝ้าเรียนรู้ลองผิดลองถูก สมัยนั้นไม่มีงานวิจัย ไปฟังอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบรรยาย ไปฟังเอ็นจีโอพูด ก็ล้วนแต่เน้นเรื่องภูมิปัญญาดั้งเดิม แต่พอเรานำไปลงมือทำแล้วพบว่าภูมิปัญญานั้นมันก็ทำได้แต่ไม่ทั้งหมด ภูมิปัญญาคือสิ่งที่บรรพบุรุษเราพาทำกันมา ทำซ้ำๆ ทำแบบเดิมๆ จนตกผลึกมา แต่มันใช้ได้แค่ระดับหนึ่งที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภูมินิเวศน์นั้นๆ จะเอาของภาคเหนือมาใช้ในภาคอีสานก็ไม่ได้ทั้งหมด รับมาได้แค่บางส่วนเท่านั้น เรียกว่าใช้ข้ามถิ่นไม่ได้ผล สุดท้ายการที่จะตอบโจทย์เราได้ว่าเกษตรอินทรีย์จะต้องทำอย่างไร ค้นคว้าจนมาพบว่า เราจะทำเกษตรอินทรีย์ได้จริงนั้นต้องมีหัวใจของหลักการทางวิทยาศาสตร์ รู้จักโครงสร้างของทางเคมีของดิน ของปุ๋ย ของพืช และสามารถนำนวัตกรรม องค์ความรู้ที่มีการวิจัยมาใช้ และบวกเข้ากับวิธีการปฏิบัติของเรา ถึงจะมีแนวทางนั่นคือ เกษตรกรต้องมีความรู้มันถึงจะประสบความสำเร็จ”
หลัก 3 อย่าง สู่เกษตรอินทรีย์ สู่การพึ่งตนเอง
การเกษตรไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ ต้องมีหลัก 3 ประการ คือ
หนึ่ง ต้องมีอุดมการณ์
สอง วิชาการ
สาม ประสบการณ์หรือวิชากู
"เกษตรอินทรีย์ คือ มันต้องระเบิดจากข้างใน เหมือนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สอนไว้ ต้องมีความศรัทธาในตรงนั้น และพร้อมที่จะลำบาก ยากเข็ญ พร้อมที่จะเรียนรู้ คนที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์ได้ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ต้องศึกษาหาความรู้ก่อน เปลี่ยนตัวเองทางความคิดก่อน ไม่ใช่ทำเกษตรอินทรีย์เพื่ออิงกระแส และไปกับกระแส สักพักมันก็เหมือนไฟไหม้ฟาง อย่าลืมว่าถ้าเราทำทั้งโลกแล้วเมื่อนั้นราคาจะตก หรือเมื่อนวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสามารถเพิ่มผลผลิตได้คราวละมากๆ ราคามันก็ตกลงมา แต่คนที่ชาญฉลาดที่สุดคือ คนที่พึ่งตนเอง คนที่มีอุดมการณ์ คนที่เพิ่มผลผลิตด้วยศักยภาพของพืช ไม่ใช่ด้วยศักยภาพของเทคโนอย่างเดียว ฉะนั้นคนที่ทำเกษตรอินทรีย์รุ่นผมจึงเป็นรุ่นที่ต้องการสร้างโลกด้วยสองมือ รายได้เป็นเรื่องรอง”
ดินดี ผักงาม รายได้เกิด
หลักการจัดการเรื่องดิน ใช้วิทยาศาสตร์ บวกกับภูมิปัญญาชาวบ้าน ดินในร้อยส่วนมีอะไรบ้าง เราต้องเรียนรู้คือ มีอนินทรีย์วัตถุ 45 น้ำ 25 อากาศ 25 อินทรีย์ 5 แต่ดินในภาคอีสานมีอินทรียวัตถุไม่ถึง 1% ดินที่จะมีอินทรียวัตถุมากๆ ต้องเป็นประเภทที่มีน้ำพัดพามา ตะกอนทับถมนับพันปี ดินในอีสานเป็นทราย ดินสมบูรณ์มีน้อย ดังนั้นเราต้องเติมอินทรียวัตถุลงไป เติมจุลินทรีย์ เติมสิ่งมีชีวิตให้ดิน เพื่อที่จะให้โครงสร้างของดินมีสารชีวภาพมาก และมีมากพอที่จะไปย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารให้กับพืช เพื่อให้พืชได้ธาตุอาหารจำเป็นเพียงพอต่อการเจริญเติบโต งอกงาม รสชาติดี
เรื่องน้ำ ถ้าน้ำไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าน้ำกร่อย น้ำเค็มต้องทำอย่างไร ถ้ามีน้ำพอแล้วก็จัดการระบบน้ำแบบหยดแบบฝอย ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด เพราะพืชต้องการน้ำไม่เหมือนกัน พืชยืนต้นทนความแฉะได้มากกว่า ผักบางชนิดชื้นได้แต่ห้ามแฉะ บางชนิดชื้นมากไม่ได้ เช่น สลัดชื้นมากได้ แต่ผักกาดขาวชื้นมากไม่ได้ ผักบุ้งแฉะได้ เราต้องเรียนรู้นิสัยใจคอของผัก ชอบน้ำมากน้อยแค่ไหนอย่างไร
เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืชที่เราปลูกเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นไหม ถ้าไม่ ก็ต้องจัดการให้เหมาะสม ให้ตรงกับนิสัยของพืช ผักเมืองหนาวชอบอากาศเย็น ถ้าอุณภูมิเฉลี่ยที่ 20-25 องศาเซลเซียสตลอดทั้งปีก็ย่อมสามารถปลูกผักได้ โตและงามเมื่อความจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้
พ่อปิยะทัศน์ก็เลือกที่จะนำเอาความรู้เชิงนวัตกรรมมาใช้คือ การนำเอาโรงเรือนพลาสติกคัดเลือกแสงมาใช้ ซึ่งภายนอกโรงเรือนร้อนถึง 45 องศาเซลเซียสแต่ในโรงเรือน 42 องศาเซลเซียสมันลดถึง 3 องศาเซลเซียส ใช้สแลนพราง และใช้น้ำเพิ่มสัมพัทธ์ในอากาศ เพราะถ้าความชื้นในอากาศเบาบางลง อากาศจะร้อนแห้งมาก ผักเจอความร้อนสูงจะเกิดความเครียด เมื่อมีความเครียดแล้วมันจะไม่กินอาหาร
การปลูกผักในโรงเรือนมันก็จัดการได้ง่ายขึ้น การทำผักควรเน้นพันธุ์เปิด พันธุ์พื้นบ้าน บางอย่างไม่จำเป็นต้องเลือกเอาพันธุ์ที่ผ่านงานวิจัย หรือซื้อจากบริษัทใหญ่ แต่เราสามารถคัดเลือกและเก็บใช้เองได้ เช่น หอมแดง คัดเอาพันธุ์พื้นบ้านมาปลูกก็ให้ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของตลาดด้วย
นอกโรงเรือน ต้องรู้ว่าฤดูกาลไหนควรปลูกหรือไม่ปลูกอะไร ถ้าผักตระกูลดอกทั้งหลายยกเว้นผักกาดดอก ปลูกหน้าหนาวได้ผลดี เพราะดอกไม่เยอะ ดอกพักตัว ถ้าหน้าร้อนแดดจัดๆ จะเหมาะกับพวกพริก มะเขือ และเป็นพืชที่ทนร้อนได้พอสมควร หน้าหนาวควรปลูกผักกินใบ ซึ่งชอบอากาศเย็น โดยเฉพาะผักเมืองหนาว หน้าฝนปลูกผักที่ทนความแฉะ ทนน้ำเยอะได้ดี
การเติมธาตุอาหารให้ดิน
“ผมปลูกผักบนโต๊ะ นำดินจากนา 2 ส่วน ปุ๋ยหมัก 2 ส่วน แกลบดำ 1 ส่วน แกลบเก่า 1 ส่วน แกลบเก่าคือ แกลบจากโรงสีที่เปลี่ยนสภาพแล้วนำมาใช้ได้ แต่ถ้าเป็นแกลบใหม่ไม่ควรนำมาใช้เพราะจะทำให้ดินเป็นกรด เนื่องจากยังไม่ได้ผ่านการย่อยสลาย พอนำมาใส่ดินมันก็จะเกิดกระบวนการย่อยสลายขึ้น ซึ่งในกระบวนการนี้มันจะดึง N ไปย่อยสลาย จะทำให้ดินขาดออกซิเจนด้วย จะทำให้พืชซีดเหลือง เช่นเดียวกันกับการห้ามใช้ขุยมะพร้าวใหม่ในโต๊ะปลูก ยกเว้นขุยที่ผ่านการแช่น้ำสัก 2 สัปดาห์ในน้ำไหล หรือในหนองน้ำใหญ่ เพราะขุยมะพร้าวใหม่จะมีพิษ ที่เป็นอันตรายต่อรากพืชอยู่ ถึงคุณสมบัติจะซับน้ำช่วยให้ดินร่วนซุย แต่ขุยใหม่จะมีพิษต่อรากพืช ก่อนใช้ต้องแช่น้ำก่อน
"ส่วนปุ๋ยใช้แกลบดำแกลบดิบ รำอย่างละ 1 ส่วน กากน้ำตาล จุลินทรีย์ อย่างละ 10 ซีซี น้ำ10 ลิตร คลุกในเข้ากันให้เกิดความชื้น ระยะแรกมีความร้อนก็กลับกองสักหน่อย และน้ำหมักใช้หน่อกล้วย หน่อไม้ แตงโมเพื่อเพิ่มความหวาน เราหมักแยกกันตามชนิด เวลาจะใช้ค่อยเอามาผสม ยกเว้นน้ำหมักพ่อหรือน้ำหมักสี่สหาย มีกล้วยสุก ฟักทองสุก มะละกอสุก สับปะรดสุก หรือใช้แตงโมทดแทนได้ สับปะรดควรทำแยกเดี่ยวดีกว่า การหมักแยก เราเอามาเล่นแร่แปรธาตุได้เยอะ และน้ำหมักหอยเชอรี่ก็ดีจะได้ธาตุอาหารเข้มข้น”
“ปุ๋ยหมักจากโปรตีน เหมาะกับการปลูกผักดีที่สุด ถ้าหมักเศษเนื้อหรือปลา เอาน้ำหมักสับปะรดใส่ด้วย ถ้าไม่มีก็ใช้มะนาวแทนได้ พวกนี้มีกรดสูง จะช่วยย่อยไขมัน น้ำหมักโปรตีนจะมีไขมันเยอะ ถ้าน้ำที่ฉีดยังมีไขมันอยู่เวลาฉีดผักกินใบมันจะไปเคลือบผิวใบ พืชจะสังเคราะห์แสงไม่ได้ หายใจไม่ได้ พืชจะไหม้ โดยเฉพาะคะน้าซึ่งเราเคยเจอมาแล้ว ส่วนการให้ปุ๋ย ผมให้ก่อนปลูก เตรียมดินแล้วเอาปุ๋ยใส่ คลุกดินให้เข้ากับปุ๋ย ก่อนคลุกก็เอาน้ำหมักไปรดก่อน แล้วคลุกให้เข้ากัน ช่วงแรกพืชจะใช้ N ก่อนเพื่อเอาไปสร้างลำต้น ใบ ช่วงก่อนเก็บผักเราให้ K ด้วย ผักจะได้หวาน กรอบ ผักรากกินหัว ให้ปุ๋ยอย่างไร ผักกินหัว อายุเก็บเกี่ยว 80 วัน วันที่ 40 ต้องเริ่มเติม K แล้ว แต่ผักกินใบไปเติมสัปดาห์สุดท้าย เพราะ K ช่วยในการลงหัว ครึ่งอายุ ให้ปุ๋ยน้ำหมักทางใบสัปดาห์ละครั้งต่อเนื่องกันไป”
พ่อปิยะทัศน์บอกว่าพืชเรียนรู้วิธีที่จะกินอาหารอย่างไรเพื่อให้มันโต และคนเองก็ควรจะเรียนรู้วิธีการเติมอาหารให้พืชเช่นกัน ช่วงเจริญเติบโตพืชก็จะดึง N ไปใช้มากกว่าตัวอื่น ช่วงที่พืชจะออกตาดอก ก็จะดึง P มาใช้ เทคนิคการใส่ปุ๋ยนอกจากเติมในช่วงแรกแล้ว พอสักสัปดาห์กว่าๆ เริ่มติดแล้ว ก็เริ่มให้ปุ๋ยทางใบ ก่อนเก็บเกี่ยวสัก 1 สัปดาห์ ให้ฉีด N ผสมกับ K ใช้ทั้ง 2 ฉีดพ่นหรือรด หรือ K ตัวนี้ช่วยให้ใบกรอบ รสชาติหวาน
เกษตรกรอย่าคิดว่ามีดินแล้วก็ทำเกษตรได้ แต่ต้องเข้าใจว่าดินที่เหมาะสมต้องโปร่ง ร่วน ซุย มีจุลินทรีย์ในดิน ที่ย่อยสลายอินทรีย์วัตถุ มีความเป็นกรด ด่างที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเหมาะสม พืชจะดึง N P K มาใช้เอง พืชทุกระยะต้องการอาหารทุกตัว เขาจะดึงมาใช้เองตามประโยชน์ของ N P K
เรื่องของเมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางเกษตรอินทรีย์
พ่อปิยะทัศน์บอกว่าถ้าเราจะพึ่งเอง จะทำเกษตรอินทรีย์ จะสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ต้องไม่ละเลยเรื่องเมล็ดพันธุ์ เพราะมันจะสะท้อนความมั่นคง เกษตรอินทรีย์ต้องรักษาเมล็ดพันดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นเครื่องประกันความมั่นคงทางด้านอาหารและไม่ตกเป็นเครื่องมือของบรรษัทข้ามชาติ
สอนคนรุ่นใหม่อย่างไรให้เข้าถึง เข้าใจ ในเกษตรอินทรีย์
"เกษตรอินทรีย์มันต้องระเบิดจากข้างใน อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ต้องทุ่มเท ต้องมุ่งมั่น ต้องศรัทธา ในเส้นทางสายนี้ แล้วผลตอบแทนมันจะกลับมาเอง ถ้าทำเกษตรอินทรีย์ตามเทรนด์ กลัวตกยุค แล้วมีความโลภ สักวันเจอปัญหาเจออุปสรรคก็ถอย คนทำเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นคนที่ขยันเรียนรู้ มากกว่าคนทำเกษตรเคมี เกษตรอินทรีย์เหมือนกับเคมีคือมีความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ความเหนือกว่าของเกษตรอินทรีย์คือเกษตรอินทรีย์เป็นทั้งวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ เป็นวิถีดั้งเดิมของเรา ที่เราจัดการมันได้ เราพึ่งพามันได้ ถ้าเป็นเกษตรเคมีเราจัดการมันไม่ได้ทั้งหมด สารเคมีเราต้องซื้อเขามา”
“ผมมองว่า ชาวบ้าน เกษตรกรต้องมีรากฐานทางวัฒนธรรมเป็นของตนเองแล้วประยุกต์วัฒนธรรมรากฐานของตนเองแล้วมาเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ มาเสริม เติมเต็มซึ่งกันและกัน อยู่ด้วยกัน อยู่ให้เท่าเทียมกันอย่างมีความสุข อย่าเป็นทาสเทคโนโลยี แต่เอาเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น เราเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพและผลผลิตได้ พระพุทธเจ้ายังสรรเสริญคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ลงมือทำทำไปเรียนรู้ไป เอาภูมิปัญญา เอาภูมิของสังคมที่เรามีอยู่แล้วมาปรับประยุกต์ใช้ เอาเทคโนโลยีมาปรับประยุกต์ใช้ให้หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นคือ 4.0"
"คนเราจะมีความสุขคนเดียวไม่ได้ ต้องดูญาติพี่น้องด้วย ต้องดูคนที่ต่ำกว่า เราต้องช่วยเขา เราต้องช่วยคนตัวเล็กตัวน้อยอยากเอาเขามาเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ มาร่วมศึกษาเรียนรู้ด้วยกัน พัฒนาเดินหน้าด้วยกัน โดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐคนในยุคผมทำเกษตรอินทรีย์กับคนในยุคนี้ต่างกัน ยุคผมทำเพื่อพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างโลกด้วยสองมือ คนตัวเล็กๆ ให้โลกสวย สะอาด และเป็นมรดกให้กับลูก แต่ปัจจุบันระบบโครงสร้างการเมืองการปกครองเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาประเทศ ก็เกิดการทำตัวเลขขึ้นมามากๆ สร้างชาติ สร้างผลงาน คนก็มองกลับมาเห็นว่าเกษตรอินทรีย์มีรายได้มาก ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งไม่ใช่ทั้งหมด การเคลื่อนไหวแบบเรามันเป็นพลวัตคือ การเคลื่อนไหวจากตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ค่อยๆ ส่งต่อกันไปเรื่อยๆๆ ช่วงแรกที่ทำนั้น ราชการก็ไม่ยอมรับ คนข้างเคียง ชุมชน ก็ไม่ยอมรับ ไม่เข้าใจ เหมือนภาคการศึกษาก็ไม่เข้าใจ แต่พอเราทำแล้วเริ่มมีคนข้างเคียงเรา คนใกล้ๆ เราเริ่มเข้าใจ มันก็ส่งผลไปเรื่อยๆ เป็นพลวัตขึ้นมา เหมือนทอร์นาโดที่ก่อตัว หมุนๆ ถ้าเราเริ่มอย่างนี้และขยายตัวแบบนี้ ทั้งโลกก็สามารถเป็นเกษตรอินทรีย์ ผมคิดอย่างนั้น"