พักปลูกข้าว หันมาปลูกผักอินทรีย์หน้าแล้ง มีอาหาร สร้างรายได้ระหว่างรอหน้าฝน

Last updated: 19 ก.ย. 2562  |  5344 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พักปลูกข้าว หันมาปลูกผักอินทรีย์หน้าแล้ง มีอาหาร สร้างรายได้ระหว่างรอหน้าฝน

พักปลูกข้าว หันมาปลูกผักอินทรีย์หน้าแล้ง มีอาหาร สร้างรายได้ระหว่างรอหน้าฝน

           การทำเกษตรในช่วงฤดูร้อนและต้องใช้น้ำที่มีอย่างจำกัด เป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องเผชิญวนกันไปอย่างนี้อยู่ทุกปี แม้ว่าจะวางแผนกักเก็บน้ำเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะผ่านหน้าแล้งนี้ไปได้

            ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วรัฐบาลได้ประกาศให้เกษตรกรชะลอการปลูกข้าวออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักใหญ่ๆ หลายเขื่อนมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคและบริโภคเท่านั้น จังหวัดที่มีการปลูกข้าวมากเป็นอันดับต้นๆ ของภาคกลางอย่างจังหวัดสุพรรณบุรีจึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้ผ่านพ้นหน้าแล้งนี้ไปได้ ในขณะที่ยังสามารถทำการเกษตรปลูกพืชผัก มีอาหารและสร้างรายได้ระหว่างที่ปลูกข้าวไม่ได้

เกษตรกรอู่ทองน้ำน้อยงดปลูกข้าว หันมาปลูกผักอินทรีย์

            คุณทวี แก้วสระแสน สมาชิกกลุ่มส่งเสริมเกษตรกรอู่ทองสุพรรณบุรี หลังจากที่ต้องพักการทำนา เนื่องจากต้องประสบกับปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าว ได้หันมาปลูกผักอินทรีย์ โดยแบ่งเนื้อที่หลังบ้านมาปลูกผัก มีอาหาร สร้างรายได้ระหว่างฤดูฝนที่จะมาถึง

            “อาชีพของเราคือปลูกข้าวเป็นหลัก ทำนาอินทรีย์ปลูกข้าวหอมมะลิแดง อยู่ 15 ไร่ แต่เราจะปลูกข้าวเพียงอย่างเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องกินผักด้วย ก็ได้มีการคุยกันในกลุ่มคนที่ปลูกข้าวอินทรีย์ด้วยกันว่า เราจะปลูกข้าวอย่างเดียวเป็นเหมือนพืชเชิงเดี่ยวนั้นอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะพอถึงเวลาที่น้ำไม่มีเราก็ปลูกข้าวไม่ได้ หรือเวลาที่มีน้ำมาก เกิดเหตุสุดวิสัยน้ำท่วมที่นาข้าวเสียหายหมดเราจะทำอย่างไรกันดี ตอนนั้นก็มีความคิดตรงกันในกลุ่มว่าปลูกผักเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากการปลูกผักก็เป็นเสมือนอาชีพหลักของเราอยู่แล้ว อย่างเมื่อก่อนครอบครัวพี่ก็ปลูกผักขายอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นพี่ไม่ได้ปลูกผัก พี่ปลูกแต่ข้าวเพียงอย่างเดียว” พี่ทวีกล่าว

ปลูกอย่างละน้อย แต่หลากหลายเป็นวนเกษตร 

            พี่ทวีกับทางกลุ่มตกลงกันว่าในเมื่อตอนนี้ยังปลูกข้าวไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็จะปลูกผักอินทรีย์ในระหว่างที่ว่างเว้นจากการทำนาแทน ที่ดินว่างเปล่าที่ถูกทิ้งร้างมานานได้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากที่พี่ทวีและสามีได้เข้ามาถางและปรับที่ดินให้เหมาะกับการปลูกผัก

            “ครั้งแรกที่คิดจะปลูกผักก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะต้องปลูกแบบอินทรีย์ เพราะทางกลุ่มมีตลาดรองรับอยู่แล้ว ก็ใช้ประโยชน์จากพื้นที่หลังบ้านประมาณ 1 งานกว่าๆ ทำเป็นแปลงปลูกผักหลายชนิด ปลูกอย่างละนิดอย่างละหน่อย ให้มีผักขายได้ทุกวัน เช่น พริกพันธุ์ต่างๆ ทั้งพริกหนุ่ม พริกพื้นบ้านสายพันธุ์โบราณ ซึ่งเป็นพริกที่มีภูมิต้านทานโรคดี และสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกครั้งต่อไปได้ ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้งที่ปลูก และยังมีรายได้จากการนำพริกมาแปรรูปเป็นน้ำพริกขายได้อีกด้วย” พี่ทวีกล่าว

เลือกปลูกผักตามตลาด เน้นขายได้ แปรรูปเด่น

พื้นที่ถูกยกร่องทำแปลงลักษณะเป็นหลังเต่า แต่ละแปลงมีขนาดสั้นยาวไม่เท่ากัน แต่ถูกออกแบบให้ง่ายต่อการทำงานในแปลง ปลูกพริกพันธุ์ต่างๆ ปลูกผักกาดเขียว ผักกาดขาว ผักกาดหอม ผักสลัด กวางตุ้ง คะน้า ซึ่งเป็นผักที่สามารถขายได้ทั้งปี เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูกคะน้าเม็กซิกัน ต้นหอม หอมแดง หอมแบ่งไว้ทำพันธุ์ ปลูกผักสวนครัว เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว มะเขือพวง ชมจันทร์ กะเพรา โหระพา และทดลองปลูกกะหล่ำปลี แม้จะลูกไม่ใหญ่เท่ากับปลูกในพื้นที่สูง แต่ก็ยังออกดอกมาให้มั่นใจว่าปลูกได้ และแปลงส่วนหนึ่งยังได้ปลูกมะเขือเทศ ซึ่งก็นำมาแปรรูปด้วยการเชื่อมจำหน่ายด้วยเช่นกัน

เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์เปิด เมล็ดพันธุ์สามารถเก็บได้เอง จะเป็นจำพวกมะเขือเทศ มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว พริก ชมจันทร์ และกะเพรา โหระพา แต่บางอย่างที่เก็บพันธุ์เองไม่ได้ เช่น ผักสลัด ผักกาดก็จะซื้อมาจากกลุ่มที่ทำเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ ซึ่งเป็นเครือข่ายด้วยกันเอง

 



เพาะเมล็ดในถาด ลดการใช้น้ำเกินจำเป็น

โดยเฉพาะในระยะที่แห้งแล้งที่สุดของปี พืชผักสวนครัวเป็นที่ต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ การใช้ฝนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ควรมีการคำนวณการใช้น้ำอย่างคร่าวๆ ตลอดฤดูกาล ในช่วงวิกฤติน้ำน้อยและต้องใช้น้ำอย่างประหยัด พี่ทวีเลือกวิธีการเพาะเมล็ดพันธุ์ในถาด ซึ่งมีข้อดีคือช่วยประหยัดน้ำได้มาก เนื่องจากระยะแรกของการเจริญเติบโตของกล้าผักจะต้องการน้ำสูง และต้องมีอย่างเพียงพอแก่ความต้องการ หากปลูกโดยหว่านเมล็ดลงดินเลยและรดน้ำลงดินโดยตรงจะไม่สามารถควบคุมการใช้น้ำได้ และสิ้นเปลืองน้ำเกินจำเป็น

แต่หากเพาะเมล็ดพันธุ์ในถาดก่อน เราสามารถควบคุมการให้น้ำต้นกล้าได้ ช่วงระยะแรกของการเพาะกล้านั้น พืชต้องการน้ำแค่พอชื้นเพื่องอกออกมาจากเมล็ดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก แต่หลังจากที่เพาะในถาดประมาณ 10 วันหรือใบที่ 3 เริ่มงอกจึงต้องเริ่มให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นการให้น้ำที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของพืช

เล่นระดับการใส่ปุ๋ยปรุงดิน ตามระยะการโตของพืช

          แปลงหลังเต่า ขนาดหน้าแปลงกว้าง 1 เมตร ขนาดความยาวไม่เท่ากัน สูงประมาณ 15 เซนติเมตร ได้ถูกวางแนวแปลงอย่างง่ายๆ เอื้อต่อการทำงานในแปลง การเตรียมดินในแปลงของพี่ทวีจะใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น แกลบดิบ แกลบดำ ซึ่งที่บ้านมีโรงสีเองก็ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหน และใช้มูลแพะ มูลวัว และมูลหมูเพิ่มแร่ธาตุในดินและช่วยในการปรับปรุงดินอีกด้วย

“การใส่ปุ๋ยต้องมีการวางไล่ระดับชั้น อย่างที่พี่ใช้ขี้แพะนี้ ซึ่งจะดีในเรื่องช่วยไล่พวกแมลงต่างๆ ได้ เพราะแพะจะกลิ่นใบกระถินซึ่งมากลิ่นฉุนแรง แมลงไม่ชอบ แต่ขี้แพะก็เป็นปุ๋ยที่ละลายช้าที่สุด พี่ก็จะเลือกใส่ขี้แพะไว้ที่ลึกที่สุด ชั้นต่อมาเป็นขี้หมู และอีกชั้นก็เป็นขี้วัว การใส่ปุ๋ยไล่ระดับชั้นจะทำให้ปุ๋ยย่อยเป็นรุ่นๆ ไป และโดยธรรมชาติของการเดินรากพืช รากจะค่อยค่อยๆ เดิน ลึกลงไปในดินได้เรื่อยๆ ค่อยๆ ดูดซึมธาตุอาหารจากปุ๋ยไปทีละชั้นไปจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต” พี่ทวีกล่าว

หลังจากเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการเอากล้าลงดิน จะต้องรดน้ำในแปลงให้ชื้นก่อน ซึ่งอายุกล้าที่จะปลูกลงดิน พี่ทวีจะใช้อายุกล้าประมาณ 10 วัน หรือมีใบ 3 ใบ ซึ่งพี่ทวีบอกว่าอายุกล้าขนาดนี้เปรียบกับเป็นช่วงวัยเด็ก ถ้าปลูกลงดินตั้งแต่เด็กๆ จะเป็นผลดีต่อพืชมากกว่า พืชจะสามารถปรับตัวเข้ากับพื้นที่ได้ดีกว่าปลูกตอนโตในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากเอากล้าลงแปลงแล้วจากนั้นใช้ฟางคลุมหน้าดิน ส่วนการดูแลจะใช้น้ำหมักซึ่งพี่ทวีก็หมักน้ำหมักสูตรต่างๆ ตามระยะการดูแลไว้ใช้เองอีกด้วย

ให้น้ำระบบสปริงเกอร์ รดน้ำแค่พอชื้น ใช้ฟางคลุมหน้าดิน

เรื่องของการใช้น้ำในแปลงผักของพี่ทวี แม้จะมีแหล่งน้ำของตัวเองแต่ก็ได้มีการวางแผนการใช้น้ำอย่างรัดกุม โดยน้ำที่ใช้ในแปลงผักนี้จะใช้น้ำในระบบน้ำบาดาล และสูบน้ำเข้าบ่อพักที่มีความลึก 5 วา แต่ก่อนที่จะใช้รดผักจะพักน้ำไว้ในบ่อ 2 คืนก่อน จึงจะค่อยนำมารด

            ส่วนเรื่องการให้น้ำ แม้จะเป็นแปลงผักขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ได้มีการวางระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ เพื่อความสะดวก โดยเดินระบบทุกแปลงผ่านหัวจ่ายน้ำหลักผ่านท่อส่งน้ำไปตามร่อง โดยจะให้น้ำร่วมกับการให้น้ำหมักในระบบเดียวกันเลย ที่สวนนี้รดน้ำผักวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 9 โมง และอีกครั้ง ประมาณ 4 โมงเย็น

เรื่องวัชพืชอย่างหญ้าก็ไม่มีปัญหารบกวนมากนัก พี่ทวีใช้วิธีการกำจัดหญ้าในแปลงผักด้วยการถอนหญ้าออกจากแปลง แล้วทำเป็นปุ๋ยพืชสดในร่องเลย เมื่อรดน้ำหมักในแปลงหญ้าที่ถูกถอนทิ้งจะใช้ ระยะเวลาประมาณ 10 วัน ก็จะถูกย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยในแปลงได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งก็ประหยัดทั้งน้ำในการหมักปุ๋ยและรดผักได้พร้อมๆ กันในขั้นตอนเดียว

ปลูกผักอินทรีย์ สร้างรายได้ช่วงพักนา

แม้ว่าช่วงว่างจากการทำนาจะเพียงไม่กี่เดือน แต่ผลผลิตจากแปลงผักหลังบ้านนี้ก็มีผลผลิตออกให้เก็บเกี่ยวหมุนเวียนจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี เมื่อผักใบเริ่มหมดรุ่น พืชที่ให้ผลผลิตเป็นผล อย่างเช่น พริก มะเขือพวง มะเขือเปราะ ถั่วพู และมะเขือเทศก็จะเริ่มออกผลผลิตให้เก็บรุ่นต่อไปได้เลย เมื่อจำหน่ายผลสดไม่หมด มะเขือเทศก็จะถูกนำมาแปรรูปเป็นมะเขือเทศเชื่อม สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าการขายผลิตสด

พี่ทวีมีรายได้หลักจากการปลูกข้าวอินทรีย์ แต่เมื่อปลูกผักอินทรีย์ทำให้มีจากการปลูกผักเพิ่มอีกวันละประมาณ 100 บาท และจากการแปรรูปทำข้าวหมากสมุนไพร และน้ำข้าวหมากสมุนไพร มะเขือเทศเชื่อม ดอกชมจันทร์ตากแห้ง ใส่ในต้มจืดแทนหน่อไม้จีน ผักกาดดอง ทำกล้วยตาก มีรายได้จากการแปรรูปเฉลี่ยเดือนละ 2000 กว่าบาท ซึ่งเฉลี่ยแล้วพี่ทวีมีรายได้จากการปลูกผักเฉลี่ยเดือนละประมาณ 6 พันบาท

พี่ทวีเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่มีการวางแผนปลูกพืชหลังนาที่มีการวางแผนเตรียมตัวเป็นอย่างดี หากภาครัฐต้องการรณรงค์ให้เกษตรกรปลูกพืชทดแทนในฤดูน้ำน้อยว่างนา อาจจะต้องมีการวางแผนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกันในการเลือกชนิดพืช ระยะเวลาการให้ผลผลิต การใช้น้ำ การตลาด และราคาผลผลิต หากผลผลิตชนิดใดมีจำนวนมากก็สามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ หากทำได้อย่างนี้แล้วการปลูกพืชทดแทนช่วงพักนาจะเป็นแนวทางการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนต่อไป



ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่2/2560 

" นวัตกรรมทำเกษตรน้ำน้อย จัดการน้ำในแปลงเกษตรหน้าแล้ง 

   สนใจอ่านเทคนิคแบบละเอียด หรือ อ่านหัวข้ออื่นๆ ในคอลัมน์นี้ เช่น 

-   วิธีการให้น้ำระบบสปริงเกลอร์ , วีธีกำจัดวัชพืช

-  วิธีการทำข้าวหมากสมุนไพร  

สั่งซื้อ  ฉบับที่ 2/2560


 
 
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้