ไร่สุขพ่วง บ้านวิถีพอเพียง

Last updated: 19 ก.ย. 2562  |  5467 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไร่สุขพ่วง บ้านวิถีพอเพียง

ไร่สุขพ่วง บ้านวิถีพอเพียง ปลูกข้าว เลี้ยงเป็ด ปลูกผัก เลี้ยงปลา พึ่งพาตนเอง

     คุณอภิวรรษ สุขพ่วง หรือน้องพอต เกษตรกรหนุ่ม แห่งไร่สุขพ่วง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี กลับมาพลิกฟื้นคืนดินมรดกของครอบครัว ทำนาอินทรีย์ โดยใช้ขี้หมูป่ามาทำเป็นปุ๋ย ปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด ด้วยอาหารธรรมชาติ แปรรูปผลผลิตในไร่ สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า และเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ สร้างอาชีพ กระจายรายได้ให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ มีแหล่งน้ำเป็นภูมิคุ้มกัน ใช้ภูมิปัญญาโบราณ สู้ความแห้งแล้งของจอมบึง
     กิจกรรมภายในไร่สุขพ่วงมีพื้นฐานการวางผังตามทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือการแบ่งพื้นที่ออกเป็นนาข้าว แปลงผักไม้ผล แหล่งน้ำ ที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์


     สำหรับนาข้าวของไร่สุขพ่วงจะไม่ปลูกข้าวตามกระแสนิยม แต่จะปลูกพันธุ์ข้าวให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งน้องพอตใช้ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยามาผนวกกับภูมิปัญญาการทำนาแบบโบราณของคุณตา ในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม และการทำนาให้สอดคล้องกับฤดูกาล

“คุณตาเป็นชาวนา ก็ได้คุณตามาถ่ายทอดภูมิปัญญาให้ สอนดำนาแบบโบราณ สงกรานต์ต้องไปใส่ปุ๋ย หว่านข้าวช่วงเวลาไหน เดือน 8 เดือน 9 ผมจะดูพยากรณ์ ปีนี้เขาบอกว่าจะแล้ง ผมเลือกข้าวพันธุ์ทนแล้งมา ทำข้าวดอกมะขามจากจังหวัดสุรินทร์ เป็นข้าวทนแล้งได้ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยมาก ปีไหนน้ำมาก จะใช้พันธุ์ข้าวเหลืองปะทิว เป็นข้าวพันธุ์ต้นสูง สามารถหนีน้ำได้  ปกติแต่ละปีจะปลูกข้าวไม่ซ้ำพันธุ์กันอยู่แล้ว เขาบอกว่าการปลูกข้าวต้องสลับหลายๆ พันธุ์ อย่าไปทำพันธุ์เดียว ทำพันธุ์เดียวพืชมันอ่อนแอลง ปีนึงปลูก 2-3 พันธุ์ มีที่อยู่ 20 ไร่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ปีนี้ปลูกหอมมะลิ 105 ดอกมะขาม และหอมปทุม ปีนี้ปลูกข้าวต้นเตี้ย เพราะว่าน้ำน้อย”

     และแม้ว่าสภาพภูมิอากาศจะเปลี่ยนแปลง ฤดูกาลจะแปรผันไป แต่การทำเกษตรโดยใช้ทฤษฎีใหม่ก็ช่วยให้สามารถรับมือกับปั­หานี้ได้ เพราะมีการสร้างภูมิคุ้มกันไว้แล้วคือแหล่งน้ำ


“บ้านเราใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ สร้างแหล่งน้ำเป็นของตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกัน โดยที่ไม่เสียดายพื้นที่ตัวเองขุดบ่อใหญ่ 30% เรามีบ่อน้ำเยอะ 4-5 บ่อ ทำให้เรามีน้ำสต็อคไว้ มีน้ำทำนาดำได้เลย ช่วงที่ฝนทิ้งช่วงผมสามารถสูบน้ำที่สต็อกไว้ไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้”

 
ข้าวได้ผลผลิตดี ด้วยขี้หมูป่า  น้ำหมักหัวปลา และฮอร์โมนธรรมชาติ

 “วิชาการสมัยใหม่ที่นำมาประกอบกับการทำนาแบบโบราณ คือการใช้ฮอร์โมน และปุ๋ยทางใบ ใช้ฮอร์โมนที่เกิดจากการหมักกับสารเร่งพด.2 จะได้น้ำหมักจากหัวปลา จะใช้ในระยะต้นข้าวกำลังตั้งกอ ช่วงนี้ต้นข้าวต้องการไนโตรเจนสูง หัวปลาจะช่วยเรื่องของการยืดของใบ การทำใบให้เขียว เราใช้น้ำหมักจากหัวปลา กับขี้หมู ขี้หมูใส่ปีเว้นปี เวลาเราใส่ปุ๋ยเคมี เราต้องใส่ทุกปี แต่ขี้หมูมันแรง ใส่ปีนี้เขียวถึงปีหน้า พอระยะข้าวตั้งกอ ฉีดปุ๋ยจากหัวปลา”


“พอระยะข้าวแต่งตัว หรือระยะข้าวเกือบจะตั้งท้อง จะใช้ฮอร์โมนนมสดกับฮอร์โมนไข่ โดยใช้นมกับไข่มาหมักกับกากน้ำตาล มาหมักแล้วฉีดพ่น จนข้าวออกรวงเป็นข้าวเม่าน้ำนม ให้หยุดฉีด เป็นการทำนาแบบลดต้นทุน”

“ผลผลิตได้ 80 ถังต่อไร่ โดยเฉลี่ย ที่บ้านเราไม่ได้เน้นเรื่องผลผลิตที่สุด เราเน้นเรื่องคุณภาพของข้าว ความปลอดภัยมาอันดับหนึ่ง เพราะว่าเราปลูกเพื่อให้คนในครอบครัวได้กิน สิ่งที่ออกไปท้องตลาด มีมาตรฐานเดียวกับที่พ่อแม่เรากิน เราไม่ได้ปลูกข้าวเพื่อขาย เราปลูกเพื่อจะกินก่อน”
 

ข้าว เป็ด ผัก ปลา พึ่งพาตนเอง
     นอกเหนือจากเรื่องข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักในแต่ละมื้อแล้ว ไร่สุขพ่วงก็ยังทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยให้สามารถพึ่งตนเองในด้านอาหารได้อย่างรอบด้าน

“คนไทยกินข้าวอย่างเดียวไม่พอ คนไทยเราชอบกินไข่ เลี้ยงเป็ด เพื่อจะเอาไข่ และด้วยความชอบส่วนตัว เป็ดเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างแข็งแรง และกินอาหารได้มากกว่าไก่ ผมทำนาเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะปล่อยเป็ดลงไปในทุ่ง ที่เรียกเป็ดไล่ทุ่ง และไข่เป็ดเอามาแปรรูปได้ ไข่เค็ม ผมจึงเลือกเลี้ยงเป็ดเป็นอันดับที่สอง”


“อันดับที่สาม ปลูกพวกผักพื้นบ้าน เช่น ยอดสารพัดยอด ยอดสะเดา ยอดมะกอก ยอดตำลึง แค ชะอม ผักพื้นบ้านนอกจากจะไม่ต้องใช้ปุ๋ย ไม่ต้องใช้สารเคมี ก็ยังเต็มไปด้วยสรรพคุณทางยา กินอาหารให้เป็นยา ทุกวันนี้เรากินยาเป็นอาหาร ไม่ใช่กินอาหารเป็นยา เพราะฉะนั้นผักพื้นบ้านยิ่งกินยิ่งเป็นยา”


“อันดับที่สี่ คือ เลี้ยงปลาดุก เราต้องการโปรตีน  เราเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติ”

 

ปลูกไม่มาก เน้นแปรรูป ทำใช้เองก็ดี ทำขายมีรายได้ดีกว่า
“เราปลูกผักไม่ได้ปลูกเยอะ เราจะสร้างรายได้จากผักด้วยการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป ที่บ้านจะปลูกกุยช่าย ที่บ้านเราจะทำขนมกุยช่ายแบบปากหม้อไปจำหน่าย กุยช่าย 1 ตะกร้า ถ้าไปขาย ได้ประมาณ 2 บาทเท่านั้นเอง แต่ถ้าเอากุยช่ายนี้ไปทำขนมกุยช่าย สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีก 10 เท่าตัว เป็นตะกร้าละ 20 บาท 1 ตะกร้า”


“กล้วย เอาไปขายหวีนึง 10 บาท แต่ถ้าไปทำกล้วยตาก ได้หวีละ 50 บาท เพิ่มมูลค่า เราจะทำโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ ตากกล้วย ตากสมุนไพร ที่บ้านเราเป็นศูนย์เรียนรู้กลุ่มแปรรูปผลผลิตจากธรรมชาติ นำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ปลูกย่านาง เอามาทำน้ำคลอโรฟิลล์ ต้านมะเร็ง ปลูกฟักข้าว มาทำน้ำฟักข้าว ที่บ้านจะเน้นเรื่องน้ำๆ กระเจี๊ยบ อัญชัน”


“นอกจากเรื่องกินก็เอามาทำแชมพูมะกรูด ในหลวงบอกว่านอกจากพอกินแล้ว เราต้องพอใช้ด้วย พอใช้คือ เครื่องอุปโภคต่างๆ เช่น แชมพูสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ พวกนี้เราสามารถทำเองได้ ตอนแรกทำแชมพูมะกรูด นอกจากจะสระผมได้แล้ว มันยังอาบน้ำได้อีก อาบน้ำไม่พอ มันยังล้างห้องน้ำได้อีก ล้างห้องน้ำไม่พอ ยังล้างจานได้อีก วันหนึ่งคุณแม่เอาไปซักผ้า ผ้าเกิดขาวขึ้นมาอีก ปรากฏว่าตอนนี้ทำแชมพูมะกรูดอย่างเดียว ใช้ได้ทุกสิ่งทุกอย่างในบ้าน เป็นน้ำยาอเนกประสงค์”


พึ่งพาตนเองได้ก่อน เผยแพร่ความรู้ตามมาก สร้างเครือข่ายในชุมชน
     เมื่อสามารถพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคงแล้ว สิ่งต่อมาที่ไร่สุขพ่วงทำ นั่นคือ การเผยแพร่ความรู้เรื่องการพึ่งตนเองเหล่านั้นให้คนนอกบ้านได้รับรู้ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างสังคมให้เข้มแข็ง

“เริ่มเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เปิดประมาณ 2 ปีที่แล้ว ทำร่วมกับหน่วยงานราชการ เช่น อบต.จอมบึง มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ทำร่วมกับหน่วยงานราชการ เพราะฉะนั้นหน่วยงานราชการจะเป็นคนจัดคนเข้ามาเรียนรู้ที่นี่ เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนรู้ส่วนใหญ่ที่บ้านเรา จะเป็นคนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. อบจ. กลุ่ม อสม. หน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สถานศึกษา เด็กและเยาวชน นักเรียนในตำบลจอมบึง เกือบจะทุกโรงเรียนแล้วที่เข้ามาดูงานที่บ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับเด็กๆ รวมถึงกลุ่มที่จะประกอบอาชีพ  คุณมาดูงานที่บ้านเรา คุณต้องกลับไปประกอบอาชีพได้เลย สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้ เราเน้นให้คนเรารู้จักพึ่งพาตนเอง ไม่ใช่แบมือขอ อย่างเด็กๆ ได้รับทุนการศึกษาจนเคยตัว แต่บ้านเราจะให้อาวุธทางปัญญา และลองไปทำเอง”


ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 1/2558 “เกษตรกรไทยสายพันธุ์ใหม่ ในวิถีเกษตรพึ่งตนเอง”

สั่งซื้อ  ฉบับที่ 1/2558


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้