Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 14497 จำนวนผู้เข้าชม |
เกษตรกรรุ่นใหม่ ทำเกษตรผสมผสาน รวยได้ตั้งแต่ยังหนุ่ม
คุณพฤหัส หล่อเข็มทรัพย์ หรือน้องมิ้ว ปริญญาบัณฑิตจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เด็กหนุ่มที่มีความฝันอยากทำเกษตร จึงไปเรียนคณะวิทยาศาสตร์การเกษตรในรั้วมหาวิทยาลัย แต่วิชาที่เรียนไม่ตอบโจทย์ชีวิต จึงขวนขวายหาความรู้นอกห้องเรียน จนได้เข้าร่วมโครงการที่ให้ผืนดินทดลองทำการเกษตรจริงๆ ได้ชุดความรู้ที่แสวงหามานาน เมื่อเรียนจบได้กลับมาทำเกษตรบนที่ดินของครอบครัว โดยใช้ศาสตร์ของพ่อค้าและเทคนิคการทำเกษตรผสมผสานด้วยจุลินทรีย์
ดร็อปเรียนทฤษฎีในห้องแอร์ มาเรียนภาคปฏิบัติกลางทุ่งนา
“ตอนแรกไม่ได้ตัดสินใจจะเป็นเกษตรอะไรขนาดนั้น แค่ว่าชอบ อยากปลูกพืช อยากอยู่กับธรรมชาติ ลองเรียนเกษตรดู พอดีเจอโครงการ 9 กล้าพอดี ก็เลยสมัคร เพราะว่าเรียนตั้งแต่พื้นฐาน เรียนรู้กระบวนการผลิตที่ผมต้องการตอนแรก เลยยอมดร็อปไป ผมไปอยู่ในโครงการ ทำให้ผมต่อยอดได้เร็วขึ้น เพราะบางอย่างที่อาจารย์พูดมาเป็นภาษาชาวบ้าน ผมก็เข้าใจในเชิงวิชาการ เวลานั้นผมเลยจะไปเร็วกว่าเขาหน่อย เข้าใจเรื่องจุลินทรีย์ที่อาจารย์พูดมา มันใกล้เคียงกับที่เราเรียน จับมารวมกัน”
โครงการเกษตรตามรอยพ่อ 9 กล้า 9 ไร่ 9 แสนที่น้องมิ้วสมัครเข้าไปนั้น คือโครงการที่ให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก 9 คน ได้มาเรียนรู้ตั้งแต่พื้นฐานการทำการเกษตร และมีพื้นที่ให้ฝึกปฏิบัติจริง คนละ 1 ไร่ โดยใช้โมเดล 1 ไร่ 1 แสน เป็นหลัก คือมีพื้นที่นาอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยคูน้ำ และมีคันนาล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งสภาพดินแปลงที่น้องมิ้วดูแลนั้นมีสภาพเป็นกรดต้องใช้จุลินทรีย์สรรพสิ่ง (อะตอมมิกนาโน) ที่โครงการสอนมาช่วยบำบัดน้ำ จนดินและน้ำกลับมามีสภาพเป็นกลางได้สำเร็จ เมื่อพื้นที่ทดลองทำเป็นโจทย์ยากและสามารถแก้ไขได้ ทำให้ไม่ว่าจะเจอสภาพดินเลวร้ายเช่นใด ก็สามารถจัดการได้ทั้งหมด
หลังจากเรียนสำเร็จหลักสูตร 5 เดือน น้องมิ้วก็ได้ไปทดลองทำในพื้นที่ของที่บ้าน และเพราะยังไม่ถึงเวลาเปิดเทอม จึงได้ไปร่วมโครงการต่ออีก 5 เดือน โดยโครงการหลังมีผู้เรียนทั้งหมด 84 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปราช์ชาวบ้าน หัวหน้าชุมชน หัวหน้าศูนย์เรียนรู้ต่างๆ การได้เข้าร่วมโครงการหลังนี้มีส่วนช่วยเปิดโลกทัศน์ได้มากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาในด้านต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับพื้นที่และวิถีการทำเกษตรของตนได้มาก
ปลูกพืชระยะสั้น-กลาง-ยาว มีรายได้ต่อเนื่อง
“เมื่อก่อนผมอยู่ปทุมฯ ตรงนี้เป็นที่มรดกของแม่ ต้องไปๆ มาๆ เลยปลูกไม้ใหญ่ทิ้งไว้ก่อน แล้วค่อยมาแซม ค่อยขยาย ตรงนี้ปลูกไว้พอได้รายวัน 200-300 บาทเอง ไม่ได้เยอะ แต่อีกแปลงเป็นแปลงใหญ่ มี 10 กว่าไร่ ขุดร่องน้ำ วางแปลนอะไรเรียบร้อยแล้ว จะปลูกไม้ระยะยาว น่าจะเป็นรายได้หลักมากกว่า”
“ผมชอบไม้สวน ไม่ค่อยได้ปลูกพืชไร่ เพราะว่าไม้สวนพอโตเต็มที่ผลผลิตมันต่อเนื่อง ตรงนี้ส่วนใหญ่่จะเป็นมะม่วง ฝรั่ง กล้วย ที่เหลือพื้นล่างเป็นพืชไว้กินเอง พริก ผักสวนครัว จะออกแนวสวนผสมเป็นหลัก ตรงนี้ต้องการให้ออกผลผลิตเรื่อยๆ เป็นพืชที่ออกทั้งปี ไม่มีฤดู ออกลูกเล็กๆ วันนี้ อีกลูกก็โตพอดี สับหว่างทุกวัน กินบ้าง เหลือกินก็ขายบ้าง แล้วแต่วัน มีประมาณ 30-40 ต้น อาศัยตอนแล้วก็แยกไปเรื่อยๆ”
“อีกแปลงอยู่ที่สนามชัยเขต ใช้โมเดล 1 ไร่ 1 แสน แบ่งเป็นล็อค มีคูน้ำ 2 ล็อค ล็อคนึงประมาณ 2 ไร่ ฝั่งนึงปลูกไผ่ไว้แล้ว กินหน่อและกินลำ อีกฝั่งยังว่างอยู่ ผมจะไปเอาพันธุ์อ้อยคั้นน้ำมาปลูก และจะเอาปลาสวยงามมาปล่อย เพราะว่ามันอยู่ไกล โมเดลเดิม เป็นนา และเป็นปลาดุก ปลานิล แต่ผมจะใช้ปลาสวยงาม เพราะว่าถ้าใช้ปลากิน คนจะเอาไปกินหมด ตกกินหมด เพราะว่าอยู่ไกล 20 กิโล แต่ปลาสวยงามจะไปทำอะไรได้ ยิ่งปลาสวยงามคนไม่สนใจกินเพราะไม่อร่อย”
เกษตรกรกับพ่อค้า สองอาชีพทีเกื้อหนุน ในคนคนเดียว
“ตอนแรกผมจะออกมาทำเกษตรจริงๆ แต่ธุรกิจที่บ้านมีปัญหา ขาดคนดูแล ผมก็เลยไปช่วยงานที่บ้านด้วย และทำอันนี้ไปด้วย คนส่วนใหญ่จะมองเกษตรแล้วลงไปเต็มตัว แต่ผมกลับมองอีกอย่าง ผมมองไม่ใช่อาชีพ ผมมองว่ามันเกื้อกัน เกษตรมันคือแนวคิดในการผลิต แต่การทำธุรกิจคือแนวคิดของพ่อค้า เรื่องการตลาด ถ้าเรามองเกษตรว่าเป็นอาชีพอย่างเดียว จะไปตายตรงตลาด เหมือนที่เกษตรกรทั่วไปอย่างชาวนาชาวสวนชาวไร่ ตายตรงตลาดหมด แต่ผมได้ทั้ง 2 อย่าง ผมได้แนวคิดของพ่อค้ามาด้วย ผมเลยสามารถปลูกอะไรผมก็ขายได้"
"จริงๆ การทำเกษตรต้องมีวิชาพ่อค้าติดมาเสมอ ตอนเราเป็นพ่อค้าเราจะมีมุมมองอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนเกษตรกร เราจะมองหาทำเลว่า ทำยังไงให้ผลผลิตในแปลงเราขายได้ ความคิดตรงนี้เกษตรกรจะไม่เห็น ทำให้วิชาพ่อค้ามันแน่นขึ้นกว่าเดิม ทำให้เห็นภาพกว้างขึ้น เยอะเลย ผมว่ามันเกื้อกันเลย ยิ่งทำไปยิ่งเห็นช่องการตลาด ก็ยิ่งอยากปลูก อยากผลิตเพิ่ม อย่างอ้อยทำเลมี และปลูกอ้อย หีบเอง ลงทุนเครื่องหีบ แต่เอาตัวมันต่อยอดตัวมัน นี่คือที่อาจารย์สอน เริ่มจากเล็กๆ เอากำไรไปต่อยอด ผมก็จะเอากำไรก้อนนี้ไปซื้อพันธุ์อ้อยเพิ่ม ไปลงแปลงอ้อยเพิ่ม ไผ่มันคืนมาก็เอาเงินไปอยู่กับไผ่ ค่อยๆ เพิ่มไป"
"ผมชอบโมเดลที่ไม่ทำมันเป็นอาชีพ ผมชอบที่เป็นพ่อค้าและเกษตรกรคนเดียวกัน สนุกดี ทำแล้วยิ่งเห็นอะไรได้กว้างขึ้นเยอะเลย ยิ่งปลูกยิ่งขายได้ และจะเป็นไลน์โปรดักส์ใหม่”
ไม่ต้องทำเยอะ แต่ทำให้มีคุณภาพ ผลตอบแทนดีกว่า
“รายได้ของผมตอนนี้คือฝรั่ง บางทีหน้ามะม่วงออก ขนุนออก กล้วยออก ก็มาแปรรูปบ้าง ขายตามตลาดธรรมดา มันดีตรงที่ว่าเวลาเราออกไปขายเอง จะเป็นผลไม้สด รสชาติจะดีกว่า แปลงตรงนี้ผมมองเป็นระยะสั้นมากกว่า ระยะยาวเป็นแปลงนู้น เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้จำกัดแค่ไร่เดียว จะออกมาเรื่อยๆ หลักการคิด ไม่ต้องทำเยอะ แต่ทำให้มีคุณภาพ และขายตลาดด้วยราคาที่มากกว่า เพราะว่าถ้าทำสเกลใหญ่ ทำไม่ได้ เพราะพื้นที่มันไม่พอ หลักคิดไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าโจทย์คืออะไร”
การเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด น้องมิ้วจึงไม่ได้มองเพียงแค่ได้ผลผลิตสดที่ได้ แต่ยังมองถึงการแปรรูป ซึ่งจะให้ผลตอบแทนในระยะยาว และสามารถสร้างได้ให้มากกว่าด้วย
“ไผ่ ขายหน่อแรกๆ แต่ที่มองต่อ อยากทำถ่านไผ่ มันระยะยาว แต่อย่างน้อยไผ่ออกหน่อ ขายได้อยู่แล้ว เป็นรายได้ แต่จะตกปีละครั้งหรือ 2 ครั้งเต็มที่ แต่มันเป็นพืชระยะยาวออกเรื่อยๆ อ้อย ขายน้ำเอง เพราะขายน้ำแล้ว ตัวซังผมก็ไม่ได้ทิ้ง เอามาเป็นปุ๋ย และยังมีปลาในคูว่าจะเลี้ยงปลาคาร์พหรือปลาสวยงาม หนึ่ง เป็นจุดขายด้วยในการดึงดูดคน แปลก สอง เป็นตัวที่ขายทำประโยชน์ได้ ในระบบที่วางแปลงไว้ ถ้ามันสวยมากๆ จะมีคนมาดูเอง ปลาพวกนี้ตักขึ้นมาขายได้อยู่แล้ว วิชาพ่อค้าทั้งนั้นเลย แปลงอยู่ที่สนามชัยเขต วางแปลนไว้ประมาณ 3-4-5 ปี ยังไม่ได้เปิดแปลงอะไรมาก ทำไปเรื่อยๆ เพราะว่ามันอยู่ด้วยตัวมันเองได้ มีรายได้ไปเรื่อยๆ”
เป้าหมายชัด เรียนรู้จากปัญหา ความสำเร็จค่อยๆ เพิ่มขึ้น
“คนที่จะทำเกษตรต้องเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน ถ้าคุณอยากจะเป็นอย่างอาจารย์คนนี้ คุณจะต้องทำอะไรบ้าง พอคุณเห็นลู่ทางแล้ว คุณก็เดินตามเขาไป พอคุณเดินตามเขาไปไม่ใช่ว่ามันจะถึงง่าย มันจะแกว่ง ผมก็แกว่งเหมือนกัน จะไม่ประสบความสำเร็จเสียทีเดียว แต่มันจะประสบความสำเร็จนิดเดียว แต่มันจะสลับกันไป และทุกครั้งที่มีปัญหาจะทำให้ผมเก่งขึ้น ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
"เริ่มต้นสำหรับคนที่จะมาทำ ต้องหาความรู้ก่อน แต่ความรู้ไม่ใช่จากการอ่าน การดู แต่เกิดจากการลงมือทำเริ่มต้นให้น้อยก่อนก็ได้ ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าใช่ตัวเราเอง กลัวลำบาก กลัวเหนื่อย ก็ให้ทำเล็กๆ ก่อน ถ้ามันทำไปมันเริ่มใช่ ค่อยๆ ขยาย และเมื่อใดก็ตามเรารู้ว่าเป็นเกษตร ทุกวันเราจะคิดว่าเราอยากปลูกอะไร แล้วมันจะให้อะไรแก่เราในอนาคต และเรามีความสุขกับมัน ทุกครั้งที่มันสุก เราจะเห็นมันเป็นสิ่งมีชีวิต เราจะอยากทำมันให้ดีที่สุด เราจะไขว่คว้าหาความรู้ให้มากขึ้น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องให้ใครผลักดัน เราจะหาสูตรทุกสูตร ทำยังไงให้พืชเราแตกใบใหม่ได้ ออกผลผลิตได้ เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้น ถึงตอนนั้นมาตรฐานเราจะสูงขึ้น และสุดท้ายเราจะเก่งไปเอง”
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 1/2558 “เกษตรกรไทยสายพันธุ์ใหม่ ในวิถีเกษตรพึ่งตนเอง”
สั่งซื้อ ฉบับที่ 1/2558