Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 97685 จำนวนผู้เข้าชม |
จาวปลวกคืออะไร
จาวปลวก คือ รังเลี้ยงตัวอ่อนหรือคอมบ์ (comb) โครงสร้างเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ รูปร่างหยักไปมาคล้ายมันสมองหรือคล้ายปะการัง บางชนิดคล้ายรังผึ้ง ลวดลายที่แตกต่างกันนี้ บางครั้งสามารถบอกสกุลของปลวกได้
จาวปลวกเป็นสิ่งที่ปลวกสร้างขึ้นมาจากมูลของมันเอง ซึ่งมูลของปลวกมี 2 ชนิด ชนิดแรกเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้เพียงเล็กน้อยและอยู่ในสภาพเป็นของแข็ง และชนิดที่สองเป็นมูลที่ถูกย่อยภายในลำไส้อย่างดีแล้วและอยู่ในสภาพเป็นของเหลว
มูลชนิดแรกประกอบด้วยเศษพืช (เศษไม้) ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ปลวกกัดกินเข้าไปและผ่านกระเพาะของปลวกออกมาอย่างรวดเร็ว มูลที่ถ่ายออกมาจึงมีรูปร่างเป็นท่อนกลมสั้นๆ ซึ่งต่อมาจะถูกกราม (mandibles) ของปลวกกัดจนเป็นเม็ดเล็กๆ แล้วนำไปสร้างเป็นรังเลี้ยงตัวอ่อน
ในขณะที่ปลวกสร้างรังเลี้ยงตัวอ่อนนี้เองจะมีราเกิดขึ้น โดยเส้นใยของราจะเกาะกันเป็นก้อนกลมสีขาวขนาดเล็ก เรียกว่า Fumgus nodule หรือ Fungal ball เส้นใยนี้จะเป็นอาหารของปลวก และเมื่อปลวกกินเส้นใยของราเข้าไป จะถ่ายมูลชนิดที่สองออกมา ซึ่งปลวกจะนำมูลที่เป็นของเหลวนี้ไปใช้เคลือบผนังด้านในของห้องเห็ด
แต่เมื่อถึงระยะหนึ่งปลวกจะกินน้อยลง และทิ้งรังตัวอ่อนไป ราจะเจริญเส้นใยเพิ่มมากขึ้น และเกิดดอกอ่อน (fruiting primodia) เป็นแท่งยาวโผล่ขึ้นมาจากรังเลี้ยงตัวอ่อน เรียกว่า pseudorhiza และแทงผ่านชั้นดินขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ เห็ดโคน
การทำน้ำหมักจุลินทรีย์จาวปลวก
ก่อนที่จะขุดนำจาวปลวกมาใช้ทำจุลินทรีย์จาวปลวก ต้องเตรียมขันห้า 1 พาน จุดธูปหอม 21 ดอก และกล่าว
คำขอจากพระแม่ธรณีและราชา ราชินีปลวกว่า “สาธุพระแม่ธรณี ราชา ราชินีปลวกทั้งหลาย ข้าพเจ้าขออนุาตขุดจอมปลวก เพื่อเอาจาวปลวกมาทำจุลินทรีย์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการกสิกรรม แล้วจะทำบุญอุทิศไปให้ สาธุ” แล้วใช้ด้ามจอบกระทุ้งจอมปลวก ถ้าเสียงดังปุกๆ แสดงว่ารังมีโพรง มีจาวปลวกอยู่ ให้ขุดได้เลย แล้วนำจาวปลวกที่มีเชื้อเห็ดโคน (สังเกตได้จากมีจุดขาวๆ อยู่บนจาวปลวก และมีกลิ่นหอมเหมือนเห็ด) ออกมาใช้งาน
วัตถุดิบและอุปกรณ์
1.จาวปลวกที่ขุดมาใหม่ๆ ประมาณ 2-3 จาว
2.ข้าวสุก ใช้ได้ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า 1 หม้อ
3.น้ำสะอาดที่ไม่มีคลอรีน ประมาณค่อนถัง
4.ถังน้ำมีฝาปิด 1 ใบ
วิธีทำ
นำจาวปลวก (พระแม่ธรณี) มาคลุกกับข้าวสุก (พระแม่โพสพ) เทลงในถังพลาสติกที่มีน้ำสะอาด (พระแม่คงคา) ใส่ไว้เกือบเต็มถัง เหลือที่ว่าง (พระพาย) จากปากถังประมาณ 1 ฝ่ามือ ปิดฝา ตั้งไว้ในบริเวณที่โดนแดด (พระเพลิง) ตอนเช้า ส่วนตอนบ่ายให้อยู่ในร่ม แล้วหมักทิ้งไว้ 7 วัน จะได้จุลินทรีย์จาวปลวกแบบน้ำที่มีลักษณะเป็นน้ำสีขาว ใส มีกลิ่นเปรี้ยว พร้อมใช้งาน
หมายเหตุ
-ปริมาณข้าว น้ำ และจาวปลวก ไม่มีสูตรตายตัว สามารถนำไปประยุกต์กับขนาดของถังพลาสติกที่มีอยู่ ถ้าถังมีปริมาตรความจุมาก ก็ใช้ข้าวสุก และน้ำมากขึ้นตามลำดับ
-ไม่ควรเทน้ำใส่เต็มถัง เพราะเมื่อผ่านไป 3 วัน จะเกิดฟอง และแรงดันอากาศ ฝาอาจจะระเบิดออกได้
-ถ้าต้องการขยายเชื้อจุลินทรีย์จาวปลวกให้ได้ปริมาณมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องขุดจอมปลวกเพื่อเอาจาวปลวกอีก เพียงแต่เตรียมข้าวสุก และในน้ำในปริมาณเท่าเดิม และนำน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกที่ทำครั้งแรกมาคลุกกับข้าวสุกให้เข้ากัน แล้วจึงนำไปเทใส่ถังพลาสติกที่มีฝาปิด และใส่น้ำเกือบเต็มถัง ปิดฝาทิ้งไว้ 7 วัน ก็จะได้น้ำจุลินทรีย์จาวปลวกไปใช้ประโยชน์ได้
การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์จาวปลวก
1.ใช้เพาะเห็ดโคนป่าแบบกึ่งพึ่งพาธรรมชาติ
โดยใช้น้ำจุลินทรีย์จาวปลวกแบบเข้มข้น จำนวนไม่จำกัด นำไปรดราดบริเวณโคนจอมปลวกให้ชุ่ม หรือใช้วิธีถากดินรอบจอมปลวก (ไม่ให้ลึกถึงรัง) ให้กระจายรอบๆ บริเวณโคนจอมปลวกให้สม่ำเสมอ จึงรดน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกให้ชุ่มทั่วบริเวณ แล้วนำใบไม้ เศษห้า หรือฟางข้าวคลุมให้มิด รดน้ำให้ชุ่ม ข้อสังเกตคือ เห็ดโคนมักจะเกิดในวันโกน หรือก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ โดยวิธีการนี้จะทำให้มีเห็ดโคนเกิดขึ้นมากกว่าปีละครั้ง
2.ใช้ย่อยสลายฟางข้าวในแปลงนา
โดยใช้จุลินทรีย์จาวปลวกแบบเข้มข้น จำนวน 10 ลิตรต่อไร่ ปล่อยไปตามน้ำหรือฉีดพ่นให้กระจายทั่วแปลงนา ระดับน้ำในแปลงนาต้องท่วมฟางข้าวประมาณ 1 ฝ่ามือ หมักทิ้งไว้ 5-7 วัน หากจะให้ฟางเปื่อยเร็วกว่านี้ ให้ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยน้ำหมักจากปลา เทใส่ไปพร้อมกับน้ำที่สูบเข้าแปลงนา จะทำให้จุลินทรีย์จาวปลวกย่อยสลายฟางข้าวอย่างรวดเร็ว ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำ ดินมีรูอากาศ
กรณีปั่นฟางสดหลังเก็บเกี่ยวข้าวทันที ให้ใช้จุลินทรีย์จาวปลวกในอัตราเท่ากัน ปล่อยไปตามน้ำ หมักทิ้งไว้ 7 วัน จึงทำเทือก เริ่มหว่านน้ำตม หรือโยนกล้า หรือปักดำ
3. ใช้หมักปุ๋ย ฮอร์โมนพืช หรือน้ำหมักสมุนไพร
3.1 ใช้หมักแบบแห้ง นำใบไม้แห้ง หญ้าหรือฟางข้าว นำไปห่มดินไว้บริเวณใต้ต้นไม้ หนาประมาณ 1 ฝ่ามือ นำมูลสัตว์เททับด้านบนของวัสดุคุลมดิน แล้วใช้น้ำจุลินทรีย์จาวปลวกแบบเข้มข้นราดบริเวณที่ห่มดินไว้ให้ทั่ว และรดน้ำวัสดุคลุมดินให้เปียกชื้นทุกๆ 7 วัน
3.2 ทำฮอร์โมนไข่ นำไข่ (ได้ทุกชนิด) 1 ส่วนมาตีให้แตกเหมือนไข่เจียว จุลินทรีย์จาวปลวก 2 ส่วน เทลงในถังพลาสติกขนาด 5 ลิตร ใช้ไม้คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 7 วัน ใช้สำหรับเร่งดอกและมีปริมาณมาก วิธีใช้ฮอร์โมนไข่จุลินทรีย์จาวปลวก อัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นในระยะที่พืชใกล้ออกดอก
หมายเหตุ ไม่ควรทำจำนวนมากและเหลือทิ้งไว้ ควรใช้ให้หมดภายในครั้งเดียวเท่านั้น เพื่อให้ได้ฮอร์โมนที่มีประสิทธิภาพสูง และประหยัดต้นทุนในการผลิต
3.3 ทำฮอร์โมนจากผักผลไม้ ฮอร์โมนสำหรับเร่งการเจริญเติบโตของพืชชนิดนั้น อัตราส่วนการหมัก พืชผักหรือผลไม้ 1 ส่วน ใส่น้ำหมักจุลินทรีย์จาวปลวก 2 ส่วน หมักทิ้งไว้ 7 วัน จึงนำน้ำหมักออกไปใช้ได้ โดยใช้น้ำหมัก 1 ส่วน ต่อน้ำ 20 ส่วน เมื่อเราเทน้ำหมักออกจากถังหมัก ให้สังเกตผักที่หมัก หากยังมีสภาพเดิม ให้เติมน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกลงไปในถังหมักอีกครั้งหนึ่ง เมื่อครบ 7 วันก็นำน้ำหมักออกไปใช้เช่นเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าผักหรือผลไม้ในถังจะย่อยสลายจนหมด
3.4 ทำปุ๋ยน้ำจากปลา หอย ปู กุ้ง นำวัสดุที่ใช้หมัก เช่น เศษปลา หรือปลาเล็กปลาน้อย หอย กุ้ง ปู 1 ส่วน น้ำจุลินทรีย์จาวปลวก 2 ส่วน เทลงในถังพลาสติก หมักทิ้งไว้ 7 วัน จึงนำน้ำหมักออกมาใช้ได้ ใช้สำหรับเร่งราก เร่งลำต้น วิธีใช้ สามารถหยดปุ๋ยนี้ลงในน้ำที่ปล่อยไหลเข้าแปลงนา หรือกรองแล้วนำไปผสมน้ำ อัตราส่วน 1 ส่วน ต่อน้ำ 200 ส่วน สำหรับฉีดพืชผัก และผสมน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้บำรุงดิน
หมายเหตุ เมื่อนำน้ำหมักออกไปใช้จนเหลือแต่วัสดุหมัก ให้สังเกตสภาพของวัสดุหมัก หากยังมีความสมบูรณ์อยู่ ให้เติมน้ำหมักจุลินทรีย์จาวปลวกลงไปในอัตราส่วนเดียวกับการหมักครั้งแรก และทุกๆ 7 วันให้นำน้ำหมักไปใช้ได้เช่นเดิม จนกว่าวัสดุหมักจะย่อยสลายจนหมด
3.5 ใช้หมักสมุนไพรควบคุมแมลงศัตรูพืช
(1.) สมุนไพรรสขม เช่น สะเดา (เมล็ด เปลือก ใบ) และบอระเพ็ด พิษของรสขมจะตัดวงจรชีวิตหนอนแมลงศัตรูพืช หากฉีดพ่นโดนไข่แมลงศัตรูพืช ไข่จะไม่เกิดเป็นตัวอ่อน หากฉีดพ่นโดนตัวอ่อน ตัวอ่อนจะไม่ลอกคราบเป็นตัวแก่ หากฉีดพ่นโดนตัวแก่ ตัวแก่จะเป็นหมันไม่วางไข่ เป็นการป้องกันหนอนและแมลงศัตรูพืชอย่างยั่งยืน
(2.) สมุนไพรรสฝาด เช่น เปลือกมังคุด เปลือกประดู่ พิษของรสฝาด ช่วยป้องกันเชื้อไวรัสที่มาทำลายพืชแบบเฉียบพลัน
วิธีทำ นำสมุนไพรรสขมและรสฝาดมาสับให้ละเอียด เทลงในถังพลาสติกพร้อมน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก อัตราส่วน 1 ต่อ 2 หมักทิ้งไว้ 7 วัน นำไปใช้ฉีดพ่นป้องกันหนอนและแมลงศัตรูพืชทุกชนิด ในอัตรา 600 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรฉีดพ่นในเวลาเย็น ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป เมื่อน้ำหมักสมุนไพรหมด สามารถเติมน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกลงไปอีกได้เรื่อยๆ หมักไว้ 7 วัน จึงนำมาใช้ซ้ำได้ ทำเช่นนี้ได้จนกว่าสมุนไพรจะย่อยสลายหมด
3.6 ใช้หมักสมุนไพรควบคุมและกำจัดวัชพืช โดยนำสมุนไพรที่มีฤทธิ์คุมการงอกของเมล็ดหญ้า ได้แก่ ต้นหงอนไก่ป่า ต้นพวยงู ผักแว่น เปลือกถ่อน และเปลือกมะคึก เท่าที่สามารถหาได้ มาใส่ถังหมักปริมาณครึ่งถัง เติมน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกให้ท่วม หมักไว้ 7 วัน จึงนำน้ำหมักสมุนไพรไปใส่ในแปลงนาช่วงทำเทือกนา อัตรา 15-20 ลิตร/ไร่ น้ำหมักสมุนไพรนี้จะช่วยคุมไม่ให้มีห้าขึ้นในแปลงนาได้เป็นอย่างดี
3.7 ใช้หมักสมุนไพรกำจัดวัชพืชใบกว้างในแปลงนา โดยนำเกลือทะเล 1 กิโลกรัม เทลงในน้ำ 5 ลิตร แล้วนำไปต้มให้ร้อน และคนเกลือให้ละลาย เมื่อน้ำเกลือเย็นแล้ว ให้เทน้ำจุลินทรีย์จาวปลวกจำนวน 4 ลิตร ผสมลงไปนำไปฉีดหญ้า ใบกว้างในแปลงนา จะทำให้หญ้า ใบกว้างเหี่ยว แต่ข้าวจะเขียวมากขึ้น
3.8 ใช้เพิ่มผลผลิตข้าวหรือพืชผักผลไม้ โดยนำถ่านมาบดหยาบ หรือใช้แกลบดำ 1 ส่วน แช่ในน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก 1 ส่วน และน้ำหมักที่หมักจากน้ำจาวปลวก 1 ส่วน แช่ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง จึงนำถ่านหรือแกลบดำไปใส่ในแปลงนา บริเวณโคนต้นไม้ กระถางปลูกต้นไม้ หรือในแปลงผัก ในอัตราส่วนตามความเหมาะสม ถ่านหรือแกลบดำจะช่วยให้จุลินทรีย์จากจาวปลวกมีบ้านอาศัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำให้พืชเจริญงอกงามมากขึ้น ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
4. ใช้ป้องกันเชื้อราในพืช
รักษาสภาพของเมล็ดพืชให้สดอยู่เสมอ วิธีใช้ น้ำจุลินทรีย์จาวปลวก 1 ส่วน ต่อน้ำ 10 ส่วน ฉีดพ่นพืชผัก 3 วัน/ครั้ง ไม้ดอกไม้ประดับ สัปดาห์ละครั้ง ไม้ผลยืนต้น ใช้เดือนละครั้ง
5. ใช้กับปศุสัตว์
ผสมในอาหารสัตว์ อัตราส่วน จุลินทรีย์จาวปลวก 1 ช้อน ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ผสมน้ำให้สัตว์กิน อัตราส่วน จุลินทรีย์จาวปลวก 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หากใช้ฉีดพ่นลงพื้น กำจัดกลิ่น ล้างคอก ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 10
6. ใช้กับการประมง
ผสมในอาหาร ใช้จุลินทรีย์จาวปลวก 1 ช้อน ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ใช้เตรียมบ่อ ใช้อัตราส่วน 1 ต่อ 10 และใช้บำบัดน้ำ ใช้จุลินทรีย์จาวปลวก 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลูกบาศก์เมตร ใส่สม่ำเสมอ
7. ใช้กับสิ่งแวดล้อมและในครัวเรือน
อัตราส่วน 1 ต่อ 10 ใช้กำจัดกลิ่น บำบัดน้ำเสีย พ่นในกองขยะเพื่อกำจัด พ่นปรับสภาพอากาศ กำจัดกลิ่น ฆ่าเชื้อ ใช้ใส่ในห้องส้วม ใช้ล้างถ้วยชาม ซักผ้า และแช่ผลไม้ก่อนรับประทานหรือปรุงอาหาร
8. ใช้ย่อยเอนไซม์ 3 ประสาน จากลูกยอ กล้วยสุก และสับปะรด
นำลูกยอห่ามๆ กล้วยน้ำว้าสุก และสับปะรด อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงลูกเดียว จุ่มลงในน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก แล้วยกขึ้น นำไปใส่ในโหลแก้ว ปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ 3 วัน จะได้น้ำเอนไซม์ที่มีกลิ่นหอมเปรี้ยว ใช้รับประทานเช้าและเย็น เพื่อรักษาสภาพร่างกายให้สมดุล ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้มาก
9.ใช้กับการเพาะเห็ด
9.1 ใช้กับการเพาะเห็ดฟาง นำฟางข้าวหรือวัสดุเพาะเห็ดฟางไปแช่น้ำที่ผสมจุลินทรีย์จาวปลวก อัตราส่วน 1 ต่อ 10 ทิ้งไว้ 1 คืน จึงนำฟางข้าวไปเพาะเชื้อเห็ดฟาง จะได้เห็ดฟางปริมาณมากขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น
9.2 ใช้กับเห็ดในถุงพลาสติก นำน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก 1 ส่วน ผสมน้ำ 10 ส่วน ฉีดพ่นก้องเชื้อเห็ด จะทำให้เห็ดออกดอกมากขึ้น และมีน้ำหนักมากขึ้น
9.3 ใช้เพาะเห็ดในขอนไม้ จุลินทรีย์จาวปลวกจะช่วยทำให้ขอนไม้ผุเร็ว ทำเกิดเห็ดในขอนไม้จำนวนมาก เห็ดมีน้ำหนักมาก และขึ้นได้บ่อยครั้ง จนกว่าขอนไม้จะผุ
10.ใช้ในการเพาะถั่วงอก
นำเมล็ดถั่วเขียวแช่น้ำจุลินทรีย์จาวปลวก ในอัตราส่วน 1 ต่อ 10 แช่ทิ้งไว้ 1 คืน และจึงนำไปเพาะถั่วงอกตามขั้นตอน จะช่วยให้ถั่วงอกมีรสชาติหวาน กรอบ อวบอ้วน โดยไม่ต้องใช้สารฟอกขาวแต่อย่างใด
ที่มา : จักรภฤต บรรเจิดกิจ. จิตวิาณในธุลี มหัศจรรย์จุลินทรีย์จาวปลวก. เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง จุลินทรีย์จาวปลวก วันที่ 7 มีนาคม 2558 พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. สุมาลี พิชางกูร. เห็ดโคนและลูกผสมฟิวแสนท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. บริษัท สามเจริพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด. กรุงเทพฯ. 2547. อุทัยวรรณ แสงวณิช, ผศ. ดร. คำอธิบายเรื่องเห็ดโคน. เข้าถึงจาก www.thaimushroomsoc.com/.../Oudemansiella%20ssp%20Uthaiwan.pdf สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. เห็ด โคนกับปลวกและการเพาะเลี้ยงเห็ดโคน. เข้าถึงจาก forprod.forest.go.th/forprod/.../เห็ดโคนกับปลวก/เห็ดโคนกับปลวก.pdf
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 4/2558 “จุลินทรีย์เบญจคุณ สุดยอดจุลินทรีย์ 5 ใน 1 พลังฟื้นคืนชีวิตให้ผืนดิน”
สั่งซื้อ ฉบับที่ 4/2558