เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 1/2559

Last updated: 1 ก.ค. 2562  |  1236 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 1/2559

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 1/2559 

เล่าสู่กันฟัง /คมสัน หุตะแพทย์
การปลูกพืชใช้น้ำน้อย

การปลูกพืชใช้น้ำน้อย เป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจ เนื่องจากสภาวะแห้งแล้งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่อง มาจนถึงปีนี้ อันมีผลมาจากสภาวะเอลนีโญ เป็นที่คาดการณ์กันว่า ปี พ.ศ.2559 นี้น่าจะเป็นปีที่แห้งแล้งมากอีกปีหนึ่ง ดังที่เริ่มได้รับทราบข่าวคราวความแห้งแล้งในที่ต่างๆ กันตั้งแต่ต้นปีนี้แล้ว นอกจากนั้นฝนจะมาล่าช้ากว่าปกติ ในขณะที่น้ำสำรองในเขื่อนก็มีน้อย ไม่สามารถปล่อยมาให้กับภาคการเกษตรได้ เพราะต้องเก็บไว้สำหรับอุปโภคบริโภค รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริม “การปลูกพืชใช้น้ำน้อย” คนในภาคการเกษตรเองก็จำเป็นต้องหาวิธีการที่จะปลูกพืชใช้น้ำน้อยเช่นเดียวกัน

“การปลูกพืชใช้น้ำน้อย” อาจจะเป็นได้ทั้งการเลือกชนิดของพืชที่ใช้น้ำในการปลูกน้อย หรือเป็นการจัดการการปลูกพืชชนิดที่เคยปลูกกันอยู่นั่นแหละ แต่ใช้น้ำให้น้อยลง ตัวอย่างเช่น การปลูกข้าวที่ใช้น้ำน้อย ด้วยวิธีการปลูกข้าวต้นเดี่ยว เปียกสลับแห้ง ที่ใช้น้ำน้อยลงมากกว่า 50% ดังนั้นเมื่อพูดถึง การปลูกพืชใช้น้ำน้อย จึงเป็นการออกแบบระบบการปลูกพืชโดยใช้น้ำน้อย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่อง การปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุ อันเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ ไม่เฉพาะต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่านั้น แต่ดินที่มีอินทรียวัตถุจะช่วยดูดซับความชุ่มชื้นไว้ได้นาน ทำให้ประหยัดน้ำที่ให้แก่พืช เทคนิคที่น่าสนใจในการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้มีความสามารถในการดูดซับน้ำไว้ได้นานๆ ก็คือ การใช้ถ่านชีวภาพ หรือไบโอชาร์ ลักษณะที่เป็นรูพรุนของถ่านไบโอชาร์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำในดินมากยิ่งขึ้น

การคลุมดินหรือการคลุมโคนต้นของพืชก็เป็นวิธีการที่สำคัญในการปลูกพืชใช้น้ำน้อย การคลุมดินหรือโคนต้นพืช ด้วยฟาง หญ้าแห้ง ใบกล้วยแห้ง หรือวัสดุอื่นๆที่ย่อยสลายได้ จะช่วยป้องกันแสงแดดและลม เป็นการลดการระเหยของน้ำควบคุมวัชพืช เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน อีกทั้งช่วยส่งเสริมการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ไส้เดือน แมลง และจุลินทรีย์ ที่ช่วยย่อยอินทรียวัตถุเป็นธาตุอาหารพืช นอกจากการคลุมดินแล้ว เทคนิคการปลูกพืชระยะชิด หรือปลูกพืชแซม พืชพี่เลี้ยง เพื่อสร้างร่มเงาให้ทั้งแก่พืชและผิวดิน ก็ช่วยลดทอนความร้อนจากแสงแดดที่ส่องทั้งต้นพืชและผิวหน้าดิน ช่วยลดการระเหยของน้ำจึงช่วยประหยัดน้ำในการปลูกพืช

อย่างไรก็ตามเรื่องที่กล่าวมาดูเหมือนเป็นเรื่องทางอ้อมที่ช่วยให้การประหยัดน้ำในการปลูกพืช แต่เรื่องทางตรงในการให้น้ำพืชแบบประหยัด ก็คือวิธีการให้น้ำพืชก่อน การให้น้ำพืชสิ่งสำคัญที่เราควรรู้ก็คือ พืชที่เราปลูกแต่ละชนิดต้องการน้ำไม่เท่ากัน เราจึงควรรู้ว่าพืชชนิดใดต้องการน้ำมาก ชนิดใดต้องการน้ำน้อย และต้องการน้ำเท่าใดต่อวัน หรือเท่าใด ตลอดอายุพืช ต้องการมากในระยะใดของการปลูก ต้องการน้อยหรือไม่ต้องการในระยะใด แล้วจึงนำไปกำหนดวิธีการให้น้ำซึ่งวิธีการให้น้ำก็มีทั้ง การให้น้ำใต้ผิวดิน การให้น้ำบนผิวดิน การให้น้ำแบบฝนโปรย หรือสปริงเกลอร์ การให้น้ำแบบละอองฝอย ซึ่งดูเหมือนว่าวิธีการให้น้ำในระบบท่อจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในสภาวะที่มีน้ำน้อย หรือมีอย่างจำกัด เพราะวิธีการให้น้ำในระบบท่อมีอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบให้เราเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำระยะเวลาถี่ห่าง รวมถึงลักษณะของหยดหรือเม็ดน้ำที่จะให้แก่พืช ตัวอย่างเช่น หัวจ่ายน้ำก็มีหลายแบบให้เลือกใช้ เช่น หัวพ่นหมอก (Fogger) หัวเจ็ทสเปรย์ (Jet Spray) มินิสปริงเกลอร์ (Mini sprinkler) ไมโครสปริงเกลอร์ (Micro sprinkler) หัวน้ำหยด (Drip) น้ำหยดแบบท่อ (Drip Hose) น้ำหยดแบบเทป (Drip Tape) เหล่านี้ หากเราเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ในการให้น้ำพืช จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้น้ำพืช และช่วยในการประหยัดน้ำแน่นอนว่าการใช้อุปกรณ์เหล่านี้จะต้องใช้เงินลงทุน แต่นับวันจะมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต่อจากนี้ไป ทรัพยากรน้ำจะมีจำกัด เราจึงต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้