เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 4/2561

Last updated: 18 มิ.ย. 2562  |  1359 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 4/2561

เล่าสู่กันฟังฉบับที่ 4/2561   

เล่าสู่กันฟัง/คมสัน  หุตะแพทย์
ทำไมต้องปลูกผักพื้นบ้าน

การเลี้ยงไก่ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อแบบปล่อยตามธรรมชาติ กำลังกลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในหมู่เกษตรกรที่เลี้ยงไก่ และคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำสวนเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้เพราะผลผลิตไข่ไก่และเนื้อไก่ที่เลี้ยงในระบบนี้กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคแทนการซื้อไข่ไก่และเนื้อไก่จากฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงแบบโรงเรือนปิด หรือแบบกรงตับ ถึงแม้ว่าการเลี้ยงไก่แบบปล่อยจะได้ผลผลิตในเชิงปริมาณ เช่น ขนาดของไข่ ปริมาณของไข่น้อยกว่า แต่เนื่องด้วยมีคุณภาพดีกว่าและมีความปลอดภัยมากกว่า จึงทำให้ขายได้ในราคาสูงกว่าราคาไข่ไก่ในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาราคาไข่ไก่ในท้องตลาดตกต่ำอย่างมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ก็ทำให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ขาดทุน  แต่ในขณะที่ราคาไข่ไก่อินทรีย์จะได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีตลาดเฉพาะของตนเอง และอีกประการหนึ่งต้นทุนด้านอาหารถูกกว่าโดยการผลิตอาหารไก่เองจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ และจากอาหารที่ไก่คุ้ยเขี่ยหากินเองในพื้นที่ จากพื้นดิน แมลง ห้า พืช ผัก ผลไม้ที่ปลูกอยู่บริเวณที่ปล่อยไก่ ดังนั้นการเลี้ยงไก่ในระบบปล่อยจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

การเลี้ยงไก่จะว่ายากก็ไม่ยากจนเกินไป จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายนัก เพราะสมัยก่อนคนไทยทั้งในเมืองและต่างจังหวัดนอกจากปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองแล้ว ก็จะมีเลี้ยงไก่เลี้ยงเป็ดแบบปล่อยตามธรรมชาติกันทุกบ้าน เอาไว้กินไข่ กินเนื้อ เป็ดไก่เดินหากินรอบบ้านรอบสวน ตอนเย็นก็เดินเข้าคอก ที่อยู่ข้างบ้านหรือใต้ถุนบ้าน แต่ไก่ที่เลี้ยงเป็นไก่พื้นบ้าน เป็นไก่แจ้ ไก่อู ไก่ตะเภา ไก่ชน มิได้เป็นไก่พันธุ์นอก หรือพันธุ์ลูกผสมที่เลี้ยงกันอยู่เหมือนในปัจจุบัน ผมมีตำราเก่าของการเลี้ยงไก่อยู่เล่มหนึ่ง ที่ว่าเก่าก็เพราะพิมพ์มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2481 หรือ 80 ปีมาแล้ว เป็นคู่มือของนักเลี้ยงไก่ เขียนโดย ก.พัฒนาพานิช และเทียนไล้ ราคาเล่มละ 70 สตางค์ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 เป็นคู่มือเล่มเล็กหนาเพียง 64 หน้า แต่ให้เนื้อหาไว้ค่อนข้างครบถ้วนของกระบวนการเลี้ยงไก่ ทั้งเลี้ยงเพื่อดูเล่น เลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือเลี้ยงเพื่อจำหน่าย เป็นการเลี้ยงไก่แบบปล่อยตามธรรมชาติ มีโรงเรือนไว้ให้ไก่ได้กินอาหาร ได้นอน ได้ออกไข่  สมัยนั้นมีพันธุ์ไก่พื้นบ้านของไทยแล้วก็มีการแนะนำให้เลี้ยงไก่พันธุ์แท้ ไก่พันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศกันแล้ว ดังระบุในหนังสือดังนี้  “ไก่พันธุ์แท้ คือไก่พันธุ์ฝรั่งต่างๆ ได้ถูกคัดเลือกและผสมจนมีเลือดบริสุทธิ์ มีรูปร่างขนาดลักษณะสีสันวรรณะและคุณภาพต่างๆ สม่ำเสมอดี เมื่อมีลูกออกมาจะแลดูเหมือนๆ กันไปหมด จนสมาคมเลี้ยงไก่ยอมรับเข้าเป็นพันธุ์แท้ ไก่เล็กฮอร์น ไก่ออสตราลอน ไก่โรคไอส์แลนเรด” ในหนังสือแบ่งไก่เป็น 4 ประเภทคือ 1.ไก่พันธุ์เนื้อ 2.ไก่พันธุ์ไข่และเนื้อ 3.ไก่พันธุ์ไข่  4.ไก่พันธุ์สวยงาม “ไก่พันธุ์เนื้อมีกำเนิดจากทวีปเอเซีย ในประเทศจีนและอินเดียมี 3 ชนิดคือ ไก่ปรามา ไก่โคชิน ไก่แลงชาน” “ไก่พันธุ์ไข่และเนื้อ พันธุ์อเมริกัน เช่น ไก่โรดไอส์แลนเรด ไก่บาเพลิมัทรอด พันธุ์อังกฤษ เช่น ออกบีสตัน  ออสตราลอฟ สัสเซกส” “ไก่พันธุ์ไข่ที่มีชื่อเสียงและคนนิยมที่สุดคือ ไก่เล็กฮอร์นขาว”

นอกจากพันธุ์ไก่แล้ว อาหารไก่ก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้ไก่ให้ผลผลิตที่ดี การเลี้ยงไก่แบบปล่อยตามธรรมชาติ นอกจากไก่จะได้อาหารจากการคุ้ยเขี่ยแล้ว ก็ยังต้องมีอาหารที่ผู้เลี้ยงเตรียมไว้ให้เป็นอาหารมื้อเช้า-เย็น อย่างเช่นในตำราเลี้ยงไก่ฉบับ 80 ปีนี้ ระบุถึงอาหารไก่ไว้ว่า “อาหารไก่แบ่งเป็น 4 ชนิดคือ ข้าว ตัวแมลง พฤกษชาติติณชาติ  และผลไม้ ข้าวได้แก่ ข้าวเปลือก ปลายข้าว ข้าวกล้อง แกลบรำ ข้าวสาร ข้าวโภชน์ ข้าวฟ่าง ถั่วต่างๆ  แต่แกลบรำ ข้าวกล้อง ปลายข้าวเป็นอาหารที่ใช้กันเป็นส่วนมาก” “ตัวแมลงที่เกิดเองตามพื้นดิน และตัวแมลงที่เกิดจากการชื้นแฉะของแกลบ พฤษชาติติณชาติ ได้แก่ ต้นไม้ใบหญ้าบางชนิดก็เป็นยาสำหรับไก่ ผักต่างๆ เป็นอาหารวิเศษสำหรับไก่ต้องจัดให้กิน เสมอๆ  ผลไม้ทุกชนิดที่ไก่จิกกินได้ เช่น มะละกอ ตะขบฝรั่ง มะม่วง ฯลฯ ดังนั้นสวนไก่ใหญ่ๆ จึงต้องมีสวนมะละกอควบอยู่ด้วยเป็นของคู่กัน  ตะขบเป็นอาหารที่เหมาะไม่แพ้มะละกอเหมือนกัน” ความรู้ของคนสมัยก่อนเมื่อ 80 ปีที่แล้วกำลังกลับหวนคืนเป็นแนวทางของคนเลี้ยงไก่แบบธรรมชาติในปัจจุบัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้