การเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่าด้วยห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติ
“ตัวยาหรือสารสำคัญของเห็ดถังเช่ามีชื่อว่าสารคอร์ไดซิปิน (Cordycepin) สารสำคัญนี้มีผลต่อการฟื้นฟูไตได้ค่อนข้างดีมาก และสารสำคัญต่อมาของเห็ดถังเช่าคือ สารอะดีโนซิน (Adenosine) จะช่วยในการสลายลิ่มเลือดได้ดี และจะมีสเตียรอยด์ธรรมชาติ (Steroids) ช่วยลดการอักเสบต่างๆ และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้”
คุณพเยาว์ แช่มประเสริฐ หรือ คุณเรียว
ฟาร์มลุงหยุดเป็นฟาร์มเพาะเห็ดที่ผลิตก้อนเชื้อเห็ดชนิดต่างๆ และจำหน่ายดอกเห็ด ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองเรือ อำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี คุณพเยาว์ แช่มประเสริฐ หรือคุณเรียว บุตรสาวของลุงหยุด แช่มประเสริฐ ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มเห็ดลุงหยุด ได้เล่าที่มาว่า “ดร.ธัญญา ทะพิงค์แก ซึ่งเป็นคณะบดีคณะเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเห็ดถังเช่าและนำมาเผยแพร่ให้กับคนที่ต้องการเพาะเลี้ยง ซึ่งเรียวสนใจเพราะว่าเป็นเห็ดยาชนิดหนึ่งและเรียวก็ทำเห็ดยาอยู่แล้วอย่างกลุ่มพวกเห็ดหลินจือ เราจึงอยากได้เห็ดถังเช่ามาเสริมอีกตัวหนึ่ง ก็เลยไปเรียน และก่อนหน้านั้นเราก็ได้เพาะเลี้ยงบ้างแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
เห็ดถังเช่าเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่บนตัวแมลง เป็นราแมลงชนิดหนึ่งในกระบวนการเพาะเราจึงไปขอวัตถุดิบจากกรมหม่อนไหม โดยนำหนอนไหมมาใช้ทดลองวิจัยในการเพาะเลี้ยง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ใช้เวลาทดลองประมาณ 1 ปีครึ่ง ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงคือ เกิดดอกเห็ดขึ้น หลังจากนั้นเรียวก็ทำการวิจัยมาเรื่อยๆจนถึงปี พ.ศ.2560 แล้วก็ทำการเผยแพร่กับคนที่สนใจเพาะเลี้ยงในสูตรที่เราใช้อยู่”
ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่า
- เริ่มจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อก่อน ซึ่งเนื้อเยื่อมาจากต้นสดของเห็ด โดยตัดเนื้อเยื่อขนาดประมาณ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรมาคัดแยกเส้นใยในอาหารเพาะเลี้ยงที่ชื่อว่า พีดีเอ (PDA) ให้ได้เส้นใยที่บริสุทธิ์ คือไม่ติดเชื้อรา ไม่ติดแบคทีเรีย
- หลังจากได้เส้นใยที่บริสุทธิ์ ให้นำไปลงในน้ำเชื้อขยายเพื่อเป็นหัวเชื้อ คือขั้นตอนของการทำหัวเชื้อให้เห็ดถังเช่า
- นำเส้นใยบริสุทธิ์ ขนาด 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรมาเขี่ยลงในหัวเชื้อขยาย หรือพีดีบี (PDB) แล้วเขย่าให้เกิดเส้นใยเต็มขวด
- เตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อโดยนำมันฝรั่งมาต้มกับน้ำ นำน้ำมันฝรั่งมากรองแล้วผสมกับน้ำตาลกลูโคส ยีสต์สกัด อาหารเห็ด และตัวหนอนไหม นำข้าวสังข์หยดที่สีเป็นข้าวกล้องมาใส่ในขวดแก้ว แล้วเติมน้ำมันฝรั่งที่ผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ ลงไปพอท่วมพร้อมปิดฝา
- นำข้าวที่ใส่น้ำมันฝรั่งที่ผสมกับส่วนประกอบอื่นๆ ไปเข้าเตาแรงดันหรือตู้นึ่งจนข้าวสุกแล้ว จึงนำหัวเชื้อเหลวที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้มาหยอดลงในขวดแก้ว
- หยอดเชื้อเสร็จนำไป เก็บในอุณหภูมิ 18 องศาเซลเซียสในห้องเพาะเลี้ยงในที่มืดประมาณ 3 สัปดาห์ หรือจนกว่าเส้นใยจะเต็ม พอเส้นใยเต็มจึงเริ่มเปิดแสงไฟเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอกประมาณ 45 วัน จึงสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือนครึ่ง
ในปัจจุบันมีห้องเพาะเลี้ยงแบบธรรมดาหรือแมนนวลอยู่ 2 ห้อง และห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติ 1 ห้อง โดยระยะหลังปรับห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติมาเป็นห้องบ่มเชื้อเพื่อกระตุ้นให้เกิดดอกที่สมบูรณ์ที่สุดก่อน พอเกิดดอกจึงนำไปเพาะเลี้ยงต่อในห้องแบบธรรมดา เพราะหากเอาห้องธรรมดาไปเป็นห้องเริ่มต้นในการเพาะเลี้ยง อาจทำให้ดอกที่เกิดมาไม่สมบูรณ์คือเป็นตุ่มจำนวนมาก ตอนนี้ก็เลยปรับแผนการเพาะเลี้ยงเป็นประมาณนี้
ความแตกต่างระหว่างการเพาะเลี้ยงในห้องทั่วไปและห้องอัตโนมัติ
- เห็ดถังเช่าที่เพาะเลี้ยงในห้องธรรมดาจะมีปัญหาการเกิดตุ่มดอกมากประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ต่อ 1 รอบการผลิต ดอกจะมีลักษณะเป็นตุ่ม คือไม่ขึ้นออกมาเป็นเส้นโดยผลผลิตที่เป็นตุ่มส่วนใหญ่เขาจะนำไปบดผงอัดแคปซูลหรือแปรรูปแบบอื่น ถ้าดอกที่เป็นเส้นจะนำไปอบแห้งเพื่อขายเป็นชา ส่วนรุ่นแรกที่ทดลองเพาะเลี้ยงในห้องอัตโนมัติ ทดลองไม่มาก ผลผลิตดอกที่ได้นั้นเป็นเส้นเกือบทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตที่ดี รุ่นที่ 2 ทดลองเลี้ยงจนเต็มห้อง คือประมาณเกือบ 3,000 ขวด ผลผลิตดอกที่ได้นั้นเป็นเส้น 95 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และเส้นที่ได้ก็มีขนาดเท่ากันในทุกชุด รุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 และรุ่นที่ 5 ก็เป็นเหมือนกัน จึงมั่นใจว่าเป็นผลมาจากห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติ
- น้ำหนักของผลผลิตไม่ได้ต่างกันมาก แต่ถ้านำมาจำหน่าย ผลผลิตจากห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติจะสร้างรายได้ให้มากกว่า เนื่องจากผลผลิตดอกที่ได้จะเป็นเส้น ซึ่งมีราคาสูงกว่าดอกที่เป็นตุ่ม
- ห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติ จะมีระบบน้ำซึ่งเป็นหัวสปริงเกลอร์แบบหัวฝอยติดเข้าไป แต่ถ้าเป็นแบบห้องแบบธรรมดาจะใช้เป็นเครื่องสเปรย์หมอก ไม่สามารถใช้ตัวสปริงเกลอร์ได้เนื่องจากผนังต่างกัน ผนังห้องธรรมดาจะถูกก่อขึ้นมาด้วยอิฐบล็อก แล้วบุด้วยฉนวนกันความร้อน ซึ่งมักมีการสะสมเชื้อราในผนังอีกฝั่งหนึ่งของห้องที่ไม่ได้ทำการเพาะเลี้ยง ส่วนตัวผนังของห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติจะเป็นผนังไอโซวอล (isowall) ซึ่งจะไม่มีการสะสมเชื้อรา เนื่องจากเป็นผนังพลาสติก
- ระบบระบายอากาศของห้องเพาะแบบอัตโนมัตินั้น จะมีลมเป่าที่พื้นเพื่อดันของเสียหรือแก๊สต่างๆ ที่สะสมอยู่ในห้องขึ้นไปด้านบน และมีแผงฟิลเตอร์สำหรับกรองอากาศจำนวน 4 แผงอยู่ด้านบน ซึ่งห้องเพาะเลี้ยงแบบธรรมดาจะไม่มีระบบแบบนี้
- ความสูงของผนังห้องอัตโนมัติอยู่ที่ 3 เมตร ทำให้แก๊สต่างๆ ลอยขึ้นด้านบน ไม่สะสมในห้อง แต่ข้อเสียคือ เปลืองไฟ เปลืองแอร์ ส่วนห้องเพาะเลี้ยงแบบธรรมดาจะมีความสูงอยู่ที่ 2.5 เมตร ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟกว่า แต่การระบายอากาศออกไม่ค่อยดี
- ขนาดของห้องเพาะเลี้ยงแบบอัตโนมัติอยู่ที่ 18 ตารางเมตร บรรจุเห็ดถังเช่า 2,700 ขวด ขนาดของแอร์ที่ใช้กับห้องอัตโนมัติคือ 20,000 บีทียู แต่ห้องแบบธรรมดาอยู่ 15 ตารางเมตร บรรจุขวดเพาะเลี้ยงได้เต็มที่ประมาณ 3,000 ขวดแต่ 3,000 ขวดจะค่อนข้างแออัดเกินไป การเพาะเห็ดช่วงที่เริ่มเป็นดอกจะต้องการออกซิเจนค่อนข้างมาก และเห็ดต้องคายคาร์บอนออก ดังนั้นเมื่อคาร์บอนจากเห็ดถูกปลดปล่อยออกมา เราจึงต้องติดพัดลมดูดอากาศหรือมีระบบเติมออกซิเจนเข้าไปในห้องเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตของเห็ด ถ้าเห็ดหายใจไม่ได้ ก็จะเกิดการสะสมแก๊สข้างในห้อง และทำให้เห็ดเกิดเป็นตุ่มดอก การแก้ไขตรงนี้คือ ลดปริมาณการเพาะเลี้ยงลง จากปกติ 15 ตารางเมตร เพาะได้ 3,000 ขวด เราอาจลดปริมาณลงมาเหลือเพียง 1,500-2,000 ขวด เพื่อที่จะป้องกันการเกิดตุ่มพวกนี้และถ้ามีระบบระบายอากาศที่ดี ดอกเห็ดที่เป็นเส้นๆ จะยืดยาวได้ถึงปากขวดโหล หรือมีความยาวจะอยู่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร และระบบแอร์ที่ใช้กับห้องเพาะเลี้ยงเห็ดแบบธรรมดาขนาด 15 ตารางเมตร เราจะใช้แอร์บ้านที่ไม่ต่ำกว่า 12,000 บีทียู
ข้อคิดของคนที่จะเริ่มต้นมาเพาะเลี้ยงเห็ดถังเช่า
“สำหรับคนที่กำลังเริ่มทำตลาดใหม่อย่าเพิ่งไปคาดหวังกับตัวเลขของรายได้ เพราะว่าในช่วงแรกของการทำตลาดจะยังขายไม่ค่อยได้ คือเราต้องมีวัตถุดิบก่อน เราต้องบริโภคเองก่อน ตลาดมันจึงค่อยๆ มา ถ้าใครอยากจะทำเห็ดถังเช่า แนะนำให้ทำเป็นอาชีพเสริมไปก่อน เราต้องรอเวลาในการทำตลาด เพราะว่าเราไม่มีที่ที่จะรับซื้อที่แน่นอน เห็ดถังเช่าในเมืองไทยมีการรับซื้อน้อยมาก ส่วนใหญ่โรงงานใหญ่ๆ เขาจะนำเข้าเป็นสารสกัดมาจากจีน ซึ่งสารสกัดจะราคาถูกมากคือไม่ถึงหมื่นบาท แต่ต้นทุนของเราทีแรกก็เป็นหมื่นแล้ว เราจึงไม่สามารถทำการตลาดสู้กับสารสกัดพวกนี้ได้ ดังนั้นเราจึงควรผลิตมาเพื่อทดลองทานเองก่อน แล้วลองแจกให้คนอื่นทานดู เมื่อทานได้ผลดีก็จะเริ่มมีการบอกกันปากต่อปาก แล้วค่อยเริ่มขยายตลาดไปเรื่อยๆ”