ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ นวัตกรรมผลิตเห็ดสำหรับครัวเรือนขนาดเล็ก

Last updated: 1 ก.ค. 2562  |  13812 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ นวัตกรรมผลิตเห็ดสำหรับครัวเรือนขนาดเล็ก

ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ นวัตกรรมผลิตเห็ดสำหรับครัวเรือนขนาดเล็ก

“ตู้เป็นอะลูมีเนียมและวัสดุกันความร้อนฉนวนพลาสติก ใส่ก้อนเห็ดโดยตั้งกับพื้นเป็นรูปตัว U มีถังน้ำวางด้านนอกมีระบบควบคุมซึ่งจะสั่งให้มอเตอร์ดูดน้ำขึ้นมารดน้ำภายในตู้เพาะเห็ด ตู้เพาะเห็ดสามารถย้ายไปเพาะเลี้ยงเห็ดที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นโรงเรือนย้ายยาก เวลาเกิดความสกปรกต้องพักโรงเรือน   ต้องทำความสะอาดฉีดยาฆ่าเชื้อรา แต่ตู้ถอดล้างทำความสะอาด แล้วทำต่อได้เลย ค่าใช้จ่ายการเพาะเห็ดน้อยกว่า 30 บาทต่อเดือน”
อาจารย์พิทักษ์ สถิตวรรธน
อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย


 
ตู้เพาะเห็ด แบบถอดประกอบ
ตัวตู้ทำจากอะลูมิเนียม ขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร สูง 100 เซนติเมตร น้ำหนัก 11 กิโลกรัม ระบบไฟฟ้า DC 12 โวลท์ ขนาด 7 วัตต์ บรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้ 120-130 ก้อน สามารถแยกชิ้นส่วนได้ ง่ายแก่การใช้ง่าย และขนย้าย อายุการใช้งานนาน เพียงเสียบปลั๊กกับไฟบ้านทิ้งไว้ ระบบจะทำงานเองให้ผลผลิตมากกว่าเพาะแบบโรงเรือน 1.5-2 เท่าต่อก้อน อัตราการเกิดดอกเห็ดสูงถึง 100%

 
การดูแลตู้ และ 5 ข้อควรระวัง
  1. ควรเก็บเห็ดสม่ำเสมอเพื่อป้องกันสปอร์เห็ดฟุ้งกระจายภายในตู้
  2. ทำความสะอาดด้วยสารสกัดธรรมชาติเพื่อป้องกัน การติดเชื้อและศัตรูเห็ด
  3. ระวังถังน้ำแห้ง เพราะจะทำให้มอเตอร์ปั๊มน้ำเสียหายได้
  4. ควรระวังความสะอาดของมือ และอุปกรณ์ในการเก็บเห็ด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  5. ตู้เพาะเห็ดและถังน้ำควรหลีกเลี่ยงโดนแสงแดดโดยตรงเพราะจะทำให้ระบบไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ได้

ใช้ระบบรดน้ำคุมอุณหภูมิ
จากงานวิจัยของอาจารย์พิทักษ์ พบว่า อากาศเย็นเห็ดจะไม่ออกดอกด้วยเหมือนกัน ดังนั้นการเอาเห็ดมาอยู่ใกล้ๆ กันภายในตู้จะทำให้อุณหภูมิภายในตู้ไม่ลดลงมาก นั่นเป็นเพราะว่าในเวลาปรุงอาหารของเห็ด เห็ดจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ทำให้อากาศเย็นภายในตู้ไม่มีผลต่อการออกดอกของเห็ด อีกทั้งตัวก้อนยังเป็นผนังกันความร้อน และความเย็น ส่วนในเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นภายในตู้เพาะเห็ด ถ้าเกินค่าที่กำหนดไว้ ระบบจะสั่งการให้รดน้ำทันที โดยอุณหภูมิที่กำหนดไว้ไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส ซึ่งออกแบบไว้สำหรับในกลุ่มเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม และเห็ดหลินจือ

“มีแนวคิดว่าทำเป็นยูนิตเล็กๆ ซึ่งสามารถควบคุมการออกของผลผลิตได้ และผลปรากฏว่า เมื่อเอาเห็ดมาอยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมที่ดี ผลผลิตเห็ดจะเพิ่มขึ้น จากโรงเห็ดแบบเดิมเห็ดจะออก 2 รอบใหญ่ๆ แต่พอใส่ในตู้ ออก 3-4 รอบ และเก็บได้เรื่อยๆ แล้วก็ใช้ระยะเวลาสั้นด้วย ผมเคยสอบถามเกษตรกร ตอนนั้นผมก็ทดลองอยู่ พบว่า เกษตรกรใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ในการเปลี่ยนก้อนเห็ดในระบบโรงเรือนแบบทั่วไป พอมาอยู่ในตู้ใช้เวลาแค่เดือนครึ่ง หรือไม่เกินสองเดือน เห็ดก็ออกอย่างสม่ำเสมอ สามารถเพาะเห็ดได้เร็วขึ้น คืนทุนได้เร็วและเกษตรกรแถวมุกดาหารเปรียบเทียบกันระหว่างโรงเรือนกับตู้ อัตราการเกิดถ้าเป็นโรงเรือนประมาณ 14 วัน ถ้าตู้อันนี้ 7 วันได้เก็บ”

 
ขยายสู่โรงเรือนขนาดใหญ่
จากความสำเร็จการเพาะเห็ดในตู้ จึงนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบโรงเรือนขนาดความจุก้อนเห็ด 2,500 ก้อน อาจารย์พิทักษ์แนะนำว่า ควรทำโรงเรือนเพาะเห็ดที่จุก้อนเห็ดได้ประมาณ 2,500-3,000 ก้อนโดยแบ่งเป็นล็อกๆ จะดีกว่าทำเป็นแบบโรงเรือนขนาดใหญ่ เพราะง่ายแก้การควบคุมอุณหภูมิ พื้นต้องปรับเป็นพื้นทราย หนาประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อของโรงเรือน ทั้งเพิ่มความชื้นให้โรงเรือน พร้อมติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ โดยวัดอุณหภูมิจากก้อนเห็ดเป็นหลัก

 
ขั้นตอนการใช้งานตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ
ขั้นตอนที่ 1 ประกอบตู้
ขั้นตอนที่ 2 วางถุงเห็ด พร้อมจัดวางเซ็นเซอร์ใกล้ตำแหน่งจุดรดน้ำ
ขั้นตอนที่ 3 วางก้อนเห็ด ภายในตู้หันหน้าเข้าหากัน
ขั้นตอนที่ 4 เติมน้ำในถังให้เต็ม
ขั้นตอนที่ 5 ตรวจสอบรอยต่อระบบรดน้ำให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 6 ตรวจสอบการกระจายตัวของน้ำ เมื่อกดปุ่มทดสอบ จากนั้นนำสารสกัดธรรมชาติเติมในน้ำ หรือฉีดบนพื้นตู้โดยตรงเพื่อกำจัดศัตรูเห็ด และทำความสะอาดตู้
ขั้นตอนที่ 7 ทำความสะอาดตู้เพาะเห็ดทุกครั้งก่อนจะปลูกเห็ดชุดใหม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้