Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 76365 จำนวนผู้เข้าชม |
ขุดสระเก็บน้ำ ขุดคลองไส้ไก่ กระจายน้ำให้ทั่วสวน จัดการน้ำในพื้นที่ สู้วิกฤติ พึ่งพาตนเอง
“พื้นที่ตอนนี้เราคำนวณแล้ว เราเก็บน้ำได้ 300% หนึ่งน้ำฝน สองจากน้ำชลประทานที่ปล่อยมาให้ และสามน้ำจากคนที่เขาไม่เก็บกัน เขาไม่มีหนองเก็บ เราก็ดึงน้ำปล่อยน้ำเข้าสวนเราทั้งหมด”
คุณบุญล้อม เต้าแก้ว
คุณบุญล้อม เต้าแก้ว ลูกชาวนาที่เลือกยึดอาชีพค้าขายหลังเรียนจบ แต่เพราะใช้ชีวิตแบบไม่พอประมาณ จึงทำให้มีหนี้สินถึงหลักแสน และได้มาขอยืมเงินพ่อที่ทำเกษตรแบบผสมผสานไปใช้หนี้อยู่หลายรอบ จนในที่สุดพ่อก็ได้เอ่ยปากให้กลับมาทำอาชีพเกษตรแทน ได้เริ่มทดลองทำโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานโดยไม่ได้ลงทุนสูง เริ่มทำน้อยๆ มีผลผลิตพอขายในพื้นที่ ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ จนมีเงินเหลือเก็บ และสามารถปลดหนี้สินได้ ชีวิตที่พอเพียงจึงเริ่มต้นเมื่อ 10 กว่าปีที่ก่อน อันเป็นผลจากการเดินตามรอยพ่อของแผ่นดินและพ่อผู้ให้กำเนิดที่ได้ทำเป็นแบบอย่างให้เห็นมาล่วงหน้า
คุณบุญลือ เต้าแก้ว ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว ตัดสินใจเลิกการเช่านาที่อื่นกลับมาปรับปรุงพื้นที่ 20 ไร่ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไปดูงานเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริให้ทำพื้นที่ต้นแบบในเรื่องนี้ไว้ เมื่อไปดูงานแล้วก็กลับมาปรับโครงสร้างพื้นที่ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างแหล่งน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ แทนที่จะต้องพึ่งพาแต่ชลประทานอย่างเดียว และเปลี่ยนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เป็นเกษตรผสมผสาน
ขุดหนองน้ำมีระดับลึกตื้น คดโค้งตามพื้นที่ มีคลองไส้ไก่ส่งความชื้นทั่วถึง
เมื่อได้ไปเรียนรู้กับอาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง จึงได้รู้ว่าการขุดบ่อที่ดีควรจะขุดให้มีลักษณะเหมือนหนองน้ำในธรรมชาติ คือ มีความลึกตื้น เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์สามารถเติบโตได้ แทนที่จะเก็บน้ำได้เพียงอย่างเดียว เมื่อขุดขยายหนองน้ำเพิ่มในปีนี้ จึงขุดให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่มากที่สุด
หนองน้ำที่ขุดขยายใหม่นี้มีความลึก 3 ระดับ ได้แก่ ระดับตื้น 1-1.5 เมตร ระดับกลาง 2-3 เมตร และระดับลึก ตั้งแต่ 4 เมตร 5 เมตร จนถึง 8-9 เมตร หนองน้ำเหล่านี้จะส่งความชุ่มชื้นไปให้คลองไส้ไก่หรือร่องน้ำที่เชื่อมต่อถึงกันหมด ทำให้พืชพันธุ์ในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งบริเวณนาข้าว แปลงผัก ร่องสวนไม้ผล ป่าไผ่ มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี
นอกเหนือจากจะมีน้ำฝนที่ตกลงมา และน้ำจากคลองชลประทานที่สูบหรือเปิดทางน้ำให้ไหลเข้ามาในพื้นที่แล้ว ยังมีน้ำอีกส่วนหนึ่งที่บุล้อมสามารถเก็บไว้ใช้งานได้ คือ น้ำที่แปลงรอบข้างไม่ได้กักเก็บไว้ ซึ่งมีปริมาณมากไม่แพ้ 2 ส่วนแรก
ออกแบบพื้นที่ต้องคำนึงถึงดิน น้ำ ลม ไฟ และคน
“ปัจจัยหลักในการคำนวณพื้นที่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และคน ดิน ต้องไปดูว่าเป็นดินประเภทไหน น้ำ ทางน้ำที่จะเข้ามาในแปลงนามีจุดไหนบ้าง และการไหลของน้ำมาจากทิศทางไหน ลม มีส่วนสำคัญในการตั้งบ้าน ทิศทางลม มีลม 2 ทิศ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ พัดพาฝนมา ถ้าเป็นลมเหนือ ลมหนาว มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงที่ลมเหนือมาเราจะเกี่ยวข้าวพอดี ประมาณธันวา มกรา มันจะพัดละอองข้าวมาบ้านเรา เขาเรียกลมข้าวเบา ถ้าเราตั้งนา แล้วตั้งบ้านในทิศนี้ เราจะได้คายข้าวเต็มๆ หรือตั้งบ้านไว้ในทิศทางแดด รับแสงทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งทิศตะวันออก และทิศตะวันตกด้วย บ้านเราจะร้อนอยู่ตลอดเวลา"
"ไฟ คือ แสงแดด ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เราควรปลูกต้นไม้ ไว้ด้านไหน ถึงจะเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้บ้านร้อนอย่างเดียว หรือในแปลงนาข้าวเราสามารถปลูกไม้ผลได้ ถ้าเราปลูก 2 ฝั่ง ทิศตะวันตกกับตะวันออก แดดจะพาเงาต้นมาทับกับแปลงนาข้าว จะทำให้เกิดร่ม ถ้าเราปลูกทิศเหนือและใต้ แสงแดดจะพาดผ่านคันนา จะไม่ลงไปในนาข้าว เพราะฉะนั้น ทิศเหนือกับทิศใต้ปลูกไม้สูงได้ แต่ทิศตะวันตกกับตะวันออกต้องปลูกไม้เตี้ย"
"ปัจจัยหลักคือ คน การออกแบบต้องตามใจคนอยู่ด้วย ให้ทฤษฎีตรงนี้เข้าไป เราให้คิดต่อว่าเขาอยากจะทำอะไร แบบไหน ถ้าเราไปคิดให้เขาทั้งหมด เกิดเขาไม่ชอบในพื้นที่ที่เราออกแบบให้ เพราะฉะนั้นคนคือปัจจัยหลักมีความสำคัญทั้งหมด”
สร้างหลุมขนมครกล้านละหลุม สร้างแสนรายเก็บน้ำได้เท่าหนึ่งเขื่อน
“การทำโคก หนอง นา จะเห็นภาพทั้งการกักเก็บน้ำ ทั้งน้ำท่วม และน้ำแล้ง ถ้าน้ำท่วมเราก็ดึงมากักเก็บในพื้นที่ของเรา จะมีพื้นที่ที่กักเก็บน้ำไว้ได้ จะไม่ไหลลงไปหาคนกรุงเทพฯ ถ้าเราทำอย่างนี้สักแสนรายในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักก็จะเท่ากับ 1 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เราได้ 1 เขื่อนโดยไม่ต้องเสียป่า ไม่ต้องเสียพื้นที่เวนคืนสร้างเขื่อน ไม่ต้องเสียวัด ไม่ต้องเสียชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อน ไม่ต้องมาเดินขบวนเรียกร้อง แต่เราเสียแค่พื้นที่ของตัวเองเท่านั้นเอง และพื้นที่ที่เราเสียไปก็เป็นประโยชน์ของตัวเรานั่นแหละ ถ้าเกิดมันทำได้เยอะกว่านี้ก็ได้เขื่อนมากขึ้น หรืออาจจะเป็นแค่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางก็ได้ที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง แล้วเราไม่ต้องเดือดร้อนด้วย พอฝนตกมาเราก็เติมน้ำไว้ในหนองของเรา"
"ทฤษฎีถาดหลุมขนมครก เวลาที่ฝนตกน้ำจะถูกเก็บไว้ในหลุมแต่ละหลุม อันนี้ก็เหมือนกันอาจารย์ยักษ์บอกว่าถ้าพื้นที่สระบุรีเป็นถาดขนมครก แล้วมีหลุมแต่ละหลุมดักน้ำ ลึกบ้าง เล็กบ้าง ตามพื้นที่ของแต่ละคน น้ำจากข้างบนที่ไหลมาลงแต่ละหลุม น้ำจะถูกกักเก็บในพื้นที่ของตัวเอง แล้วจะไม่ไหลลงไปท่วมคนกรุงเทพฯ แต่ ณ ปัจจุบันเราถมหลุมของเราเพื่อจะได้พื้นที่ เสร็จแล้วน้ำก็เหมือนไหลผ่านพื้นที่ราบๆ น้ำมา 100 ลิตร จะไหลผ่านไปเลย 100 ลิตร แต่ถ้าเราขุดหลุมไว้เต็มไปหมด น้ำก็จะไหลไปแต่ละหลุมๆ กระจายกันไป จะถูกกักเก็บไว้ในพื้นที่สระบุรี โซนด้านล่างก็ไม่โดนน้ำท่วม เหมือนการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในคลอง บนหัวคันนา ในแปลงนา โคกก็สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ โดยการปลูกพืชปลูกต้นไม้ต่างๆ เหมือนภูเขาพอฝนตกลงมาจะถูกซับไว้ในดิน พอถึงเวลามันจะค่อยๆ ซึมมาทีละหน่อย กลายเป็นหยดน้ำ ต้นไม้แต่ละต้นปล่อยหยดน้ำลงมาเรื่อยๆ จะเป็นลำธาร ไหลลงมาหาชาวบ้านได้ใช้กัน”
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 9/2558 “โคก หนอง นา โมเดล หยุดท่วม หยุดแล้ง นวัตกรรมจัดการน้ำสู้วิกฤติ”
สั่งซื้อ ฉบับที่ 9/2558
25 ก.ค. 2562
19 ก.ย. 2562
25 ก.ค. 2562