Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 23085 จำนวนผู้เข้าชม |
โคก หนอง นา โมเดล ศาสตร์การจัดการน้ำของพระราชา
คุณสหราช ทวีพงษ์ เกษตรกรและนักวิชาการทางปฐพีและทรัพยากรน้ำ สถาบันแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และสมาชิกเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ เรียนรู้เรื่องวิศวกรรมศาสตร์ ปฐพีวิทยา การจัดการทรัพยากรน้ำมานาน โดยเฉพาะงานเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ รวมถึงร่วมขับเคลื่อนการทำเกษตรกรรมเพื่อการพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้นำทฤษฎีและประสบการณ์จากการเรียนรู้ลงมาสู่การปฏิบัติเพื่อการพึ่งตนเองได้จริง ในพื้นที่เกษตร 8 ไร่ ที่เรียกว่า “สวนวังสัปปายะ” ที่จังหวัดมหาสารคาม จัดการปรับปรุงเชิงภูมินิเวศน์ที่สอดคล้องกับแนวทางโคก หนอง นา โมเดล สร้างศักยภาพการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อใช้ทำการเกษตรพึ่งตนเองให้สามารถเลี้ยงชีพได้ ตลอดจนเป็นต้นแบบให้คนที่สนใจสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ด้วย
โคกนั้นเป็นฐานสำคัญ พื้นที่เกษตรยั่งยืนกับอุดมด้วยชีวภาพที่หลากหลาย
สิ่งเล็กที่ทำให้เกิดโคกขึ้นมาไม่น่าเชื่อว่าคือ “ปลวก” ธรรมชาติของปลวกจะอาศัยอยู่บนพื้นดิน สร้างรังเป็นทรงสูงขึ้นมาก เป็นรังที่ต้องอยู่บนที่สูง น้ำท่วมไม่ถึง ปลวกจะพัฒนาและขยายรังอยู่ตลอดจนใหญ่่ขึ้นเป็นอาณาจักรและกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่าโคกหรือโพนขึ้นมา อาณาจักรที่ลึกลงไปใต้ดินของปลวกใหญ่มาก บางที่เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 20 เมตร สูงเกือบจะ 10 เมตรเลยทีเดียว น้ำฝนที่ตกลงจะถูกเก็บอยู่ใต้รังปลวก ซึ่งปลวกจะเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง พืชพันธุ์พื้นบ้านต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับอาณาจักรของปลวกจึงเติบโตดี เมื่อความเชื่อแบบดั้งเดิมที่ห้ามทำลายจอมปลวก พืชพันธุ์ที่ใกล้จอมปลวกมีเจ้าของ มีเจ้าที่เจ้าทางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลอยู่ จึงทำให้บริเวณโคกที่มีจอมปลวกมีพืชพันธุ์ที่หลากหลาย อุดมสมบูรณ์ทางนิเวศน์ขึ้นมาจนกลายเป็นหย่อมป่าดีๆ นี่เอง
“กลายเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ว่าโพน(โคก)เป็นแหล่งอาหาร ในเชิงของแหล่งอาหารก็เหมือนเป็นการรวมพืช 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง หรือเป็นป่าขึ้นมา แล้วก็ถูกปกป้องโดยความเชื่อ เวลาเขาจะทำบุข้าวประดับดินเขาก็จะนิยมเอากระทงอาหารไปวางบริเวณที่โพน ก็จะมีการเอาประเพณีที่เกี่ยวข้องกับโพนของทางอีสานหลายๆ ชุมชนมารวมกัน น้ำฝนที่ตกลงมาก็จะอยู่ในรังปลวกและใต้ดิน ทีนี้ต้นไม้มันไปอยู่บนโพน ก็จะใช้น้ำจากปลวก”
นอกจากการเก็บโคก(โพน) ดั้งเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ คุณสหราชยังสร้างโคกขึ้นเพื่อจำลองระบบนิเวศน์แบบป่าขึ้นมาด้วย โดยการนำดินที่ขุดสระปรับพื้นที่ขึ้นมาโปะก่อเป็นโคกและทำการปลูกพืชบนโคกประดิษฐ์นี้เพื่อเป็นตัวอย่างทฤษฎีของโคกคือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ บนโคกจะปลูกพืชหลากหลายทั้งพืชเล็กๆ ที่ช่วยคลุมดินอย่างผักเป็ดเขียว ผักบุ้ง (เลื้อยขึ้นมาเอง) ข่า ขมิ้น เป็นต้น พืชที่ช่วยยึดหน้าดินอย่างตะไคร้ ปลูกพืชยืนต้นไว้ที่โคนล่างของโคก เช่น ต้นสัก กระถิน ต้นแค โสน ผักหวานป่า ต้นไผ่ เป็นต้น ในช่วงเริ่มต้นปลูกพืชบนโคกก็ใช้เทคนิคการคลุมฟางเพื่อช่วยเก็บความชื้นของดิน ป้องกันวัชพืช และให้จุลินทรีย์ทำงานได้ดีอีกด้วย ทำให้เห็นประโยชน์ของการปลูกพืชในระบบของโคกซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งในโมเดลนี้ได้เป็นอย่างดี
ความมั่นคงทางน้ำภาคการเกษตร บริหารจัดการสระน้ำในไร่นาเป็นหัวใจ
ส่วนประกอบลำดับถัดมาของโมเดล คือ หนอง หรือจะเรียกว่าคลอง บึง บ่อ สระ ซึ่งก็คือพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับใช้ประโยชน์ การออกแบบแปลงเกษตรให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพียงพอต่อการใช้จึงเป็นความสำคัญอันดับแรก
“ตามธรรมชาติก่อนที่คนจะมาอยู่นั้น ลำน้ำมันออกแบบของมันมาแล้วเบ็ดเสร็จ ต้นน้ำจะเล็กเพราะน้ำน้อย ขนาดไม่เกิน 20 เมตร แต่ปลายน้ำจะใหญ่ขนาด 200-300 เมตร หรือบางจุดก็เป็นระดับกิโลเมตร นั่นเพราะเป็นน้ำที่มารวมกันหลายสาขา แต่พอคนไปอยู่ ไปทำอะไรกั้นตรงนั้นนี้บ้าง เร่งระบายน้ำออกมากขึ้นบ้าง มันก็ทำให้ระบบมันเสียสมดุล ฉะนั้นที่เสนอให้ทำสระเก็บน้ำในไร่นา นอกจากจะใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งแล้ว ก็ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้คนอื่นได้ด้วย
วางระบบทางเดินของน้ำเข้า-ออกทางเดียว กระจายน้ำได้ทั่วแปลง ลดภาระการจัดการ
คุณสหราชอธิบายว่าการจะเก็บน้ำได้และรักษาได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพดินในพื้นที่ว่าดินมีการอุ้มน้ำดีหรือไม่ดี หากดินดีอุ้มน้ำอยู่การมีสระ คลอง ห้วย หนอง เพื่อกักเก็บและกระจายน้ำก็เกิดประสิทธิภาพ แต่หากเป็นดินทรายมากหรือมีชั้นลูกรังข้างล่าง รูปแบบสระน้ำก็อาจไม่มีประสิทธิภาพเชิงการจัดเก็บ ต้องเก็บรูปแบบอื่นหรือดึงน้ำใต้ดินขึ้นมาเก็บในภาชนะอย่างแท็งก์น้ำและมีการจ่ายน้ำในระบบท่ออย่างเช่น ท่อพีวีซี ท่อพีอี ท่อน้ำหยด เพื่อไปเลี้ยงพืชในแปลง ผสมผสานพืชยืนต้นให้กลายเป็นป่าขึ้นมา ไม้ยืนต้นก็เป็นเหมือนปั๊มสูบน้ำธรรมชาติที่สามารถหยั่งรากได้ลึกหลายสิบเมตร ลงไปดึงน้ำชั้นใต้ดินขึ้นมาช่วยเหลือพืชรากตื้นด้านบนได้ เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารและย่อยสลายสร้างหน้าดินใหม่ขึ้นมา สภาพดินก็จะดีขึ้นจนเก็บน้ำในรูปแบบของสระได้ในวันข้างหน้า
การเก็บน้ำหัวแปลงให้มากนั้นก็เหมือนกับปั๊มน้ำตัวหนึ่ง เมื่อมีการเก็บน้ำที่รับมาตั้งแต่ต้นแปลงแล้ว นอกจากน้ำที่จะไหลจากต้นแปลงไปยังท้ายแปลงตามทางน้ำที่ออกแบบไว้ น้ำยังจะแพร่กระจายไปตามชั้นทรายและชั้นลูกรังที่อยู่ใต้ดิน ดินในพื้นที่ก็จะเริ่มมีความชุ่มชื้นเอง พืชต่างๆ ก็จะดูดซับน้ำไว้เพื่อใช้ประโยชน์
แปลงเกษตร 5 ไร่ รูปนิ้วมือ การออกแบบพื้นที่ซึ่งทุกอย่างเชื่อมโยงเกื้อกูล
พื้นที่ 5 ไร่ ของคุณสหราชมีรูปทรงราวกับนิ้วมือของคน เป็นแปลงเกษตรนิ้วมือที่ใช้ทำพึ่งตนเองทั้งทำนาข้าว เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ปลูกพืชอาหารและสมุนไพร ปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น โครงสร้างทางกายภาพของพื้นที่จะมีหน้าดินและดินดีอุ้มน้ำได้ แต่ในระดับความลึกลงไปจะมีจุดที่เป็นชั้นดินทรายและลูกรัง ซึ่งน้ำจะไหลซึมผ่านชั้นนี้เป็นชั้นเก็บกักน้ำใต้ดินที่ยาวไปถึงท้ายแปลงเลย พื้นที่จึงมีการใช้ประโยชน์ทั้งน้ำผิวดินที่เป็นสระน้ำที่มีสระหลักตั้งอยู่ต้นแปลงและมีน้ำสาขาที่เชื่อมต่อกันทอดยาวลงมาไปสู่ปลายแปลง เรียกว่าน้ำใกล้กับพืชในทุกพิกัดของพื้นที่เกษตร และมีน้ำใต้ดินในชั้นลูกรังเป็นแหล่งน้ำสำรองที่กระจายอยู่ทั่วแปลง ซึ่งไม้ยืนต้นสามารถหยั่งลงไปใช้เพื่อการเจริเติบโตและหมุนเวียนน้ำขึ้นมาให้พืชเล็กพืชน้อยบนผิวดินได้ รวมทั้งใช้ประโยชน์ในการอุปโภคของครัวเรือนได้เป็นอย่างดี
ออกแบบการจัดการน้ำในแปลงนา ผลิตข้าวและพืชอาหารอื่นอย่างไม่ติดกรอบ
ในลำดับสุดท้ายของโมเดลคือ นา การทำนาปลูกข้าวในพื้นที่เกษตรจึงเป็นกิจกรรมสำคัญที่จะได้ผลผลิตข้าวเพื่อบริโภค คุณสหราชออกแบบแปลงนาให้มีระบบการจัดการน้ำที่ดี โดยมีคูน้ำรอบแปลงที่เป็นพื้นที่เก็บสำรองน้ำที่รับมาจากสระอื่นๆ เพื่อไว้จ่ายน้ำเข้านาสำหรับปลูกข้าวได้อย่างพอดี หรือใช้เป็นจุดรับน้ำออกจากแปลงนาในกรณีปลูกข้าวด้วยเทคนิคเปียกสลับแห้งได้ด้วย จากการที่มีแปลงนาไม่มาก มุ่งเน้นปลูกข้าวเพื่อบริโภคเป็นหลัก จำหน่ายเป็นรอง
“เราปลูกข้าวเจ้าพันธุ์พื้นบ้านภาคอีสาน 30 สายพันธุ์ในแปลงเดียวเลย เป็นข้าวท้องถิ่นที่ผ่านการคัดและปรับปรุงพันธุ์มา 7 ปีแล้ว ข้าวท้องถิ่นพวกนี้ต้นแข็งแรง ลมแรงมาก็ไม่ล้ม เราก็เชื่อว่าการบริโภคหลากหลายพันธุ์ มันก็เป็นเหมือนการรวมสารอาหารและยาดีที่หลากหลายมาไว้ด้วยกัน ยีนหรือ DNA ที่เด่นๆ จะแสดงเอกลักษณ์ที่ดีๆ และมีการปรับตัวเข้ารวมกับสายพันธุ์อื่น เพื่อความอยู่รอด แต่เราก็มีพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ที่ไว้ใช้ขายด้วย เรามีแปลงปลูกข้าวพันธุ์เขี้ยวงู ข้าวไรซ์เบอรี่ ที่ท้ายแปลง นอกเหนือจากการเป็นนาที่ใช้ปลูกข้าว หลังเก็บเกี่ยว ดินมันยังมีความชื้น เราก็เอามาใช้ปลูกพืชอื่นๆ ได้อีก เช่น ข้าวโพด แคนตาลูป ผักบุ้งนา ผักปอดนา กระจับ ไม่ได้คิดแต่ใช้ปลูกข้าวอย่างเดียว เพราะเป็นการคิดที่ตีกรอบตัวเอง”
นอกจากการเป็นนาปลูกข้าว ปลูกพืชอาหารอื่นๆ ในช่วงหลังนาหรือพืชใช้น้ำน้อยในช่วงที่แล้งจัดจนไม่มีน้ำมากสำหรับทำนา แปลงหนึ่งในพื้นที่เกษตรของคุณสหราชยังถูกออกแบบไว้เพื่อทำนาปลูกข้าวและเลี้ยงปลาและกุ้งกร้ามกรามไปด้วยกัน โดยออกแบบเป็นนาน้ำลึกที่มีคันนาสูง ผืนนาที่ใช้ปลูกอยู่ระดับต่ำลงไป มีคูน้ำจากหัวนาทอดไปข้างแปลงที่มีระดับต่ำลงมาจากผืนนา และที่ปลายคูน้ำเป็นสระที่ระดับลึกสุด ความต่างระดับกันเช่นนี้เป็นการจำลองการอาศัยอยู่ของสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ช่วยให้ปลาและกุ้งเลือกอยู่ตามระดับความลึกเพื่อหลีกเลี่ยงอุณหภูมิของน้ำที่ร้อนหรือเย็นเกินไปได้ มีต้นข้าวเป็นบ้าน มีพื้นที่หลบภัยและวางไข่ ตลอดจนมีอาหารจากพืชน้ำอย่างแหน จอก ผักกระเฉด ผักบุ้ง สาหร่ายน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันแปลงนาน้ำลึกนี้ใช้เป็นนาบัวและเลี้ยงปลาและกุ้งโดยเฉพาะ น้ำในบ่อเลี้ยงปลานี้จะมีธาตุอาหารมากซึ่งสามารถใช้ไปเป็นน้ำสำหรับปลูกข้าวในแปลงนาอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 9/2559 "สู้ภัยแล้ง ต้านน้ำท่วม สร้างสระเก็บน้ำในไร่นา จัดการน้ำอย่างยั่งยืน"
สั่งซื้อ ฉบับที่ 9/2559
25 ก.ค. 2562
19 ก.ย. 2562