Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 11307 จำนวนผู้เข้าชม |
อ.ประดิษฐ์ ดีใจ และ อ.พนิตา ภักดี อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ ได้ร่วมคิดค้นต้นแบบโรงเรือนเลี้ยงเป็ดอัจฉริยะsmart farm โดยมีนักศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการ ช่วยทำโรงเรือนตามแนวคิดให้เกิดขึ้น เป็นระบบฟาร์มแบบอัตโนมัติที่สามารถควบคุมดูแลโดยระบบตู้ควบคุมอิเล็กทรอนิค ทำให้แทบไม่ต้องใช้คนดูแล ประหยัดแรงงานและเวลา ที่สำคัญเป็นฟาร์มที่ใช้พลังงานหลักจากแสงอาทิตย์หรือแผงโซลาร์เซลล์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถดูแลควบคู่กับการทำอาชีพหลักหรืองานประจำได้
smart farm แห่งนี้ ประกอบไปด้วย
1.ระบบให้น้ำอัตโนมัติ
ทางฟาร์มกำลังปรับปรุงระบบให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิคมาช่วยควบคุม ซึ่งที่ เดิมจะเป็นเพียงระบบตั้งเวลาให้น้ำเป็ดแบบอัตโนมัติ พอน้ำเริ่มสกปรก ตัวตั้งเวลา (Timer) จะสั่งการโดยปล่อยไฟฟ้าไปยัง โซลินอยด์วาล์วเพื่อเปิดให้น้ำถูกดูดออกไปทิ้งข้างนอก ซึ่งบางครั้งยังคงเหลือเศษอาหารค้างอยู่ในรางให้น้ำจนเกิดอุดตันรางน้ำ แต่ระบบใหม่ เมื่อน้ำถูกดูดออกไป จะมีการทำความสะอาดตัวรางให้น้ำโดยใช้แรงดันน้ำฉีดไล่น้ำที่มีสิ่งสกปรกให้ออกไปตามท่อน้ำทิ้งด้านท้ายของรางน้ำด้วย
ระบบฟาร์มต้นแบบนี้ถือได้ว่าเป็นระบบสมาร์ทฟาร์มSmart farm ที่เกษตรกรสามารถจับต้องได้ สามารถนำวัสดุในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ได้ ที่สำคัญทางฟาร์มได้ทำให้ระบบของฟาร์มเป็นระบบที่ไม่มีของเสียเหลือทิ้ง (Zero waste)
โดยปกติเมื่อน้ำสกปรกที่เหลือทิ้งจากรางให้น้ำของฟาร์มจะมีอยู่ประมาณวันละ 20 ลิตร และถูกทิ้งไปเฉยๆ แต่ในปัจจุบัน เราจะนำน้ำจากส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ด้วยการใช้รดน้ำผัก ซึ่งก็ต้องมีการคำนวนการจำนวนการปลูกผักให้พอดีกับปริมาณน้ำที่ใช้รดในแต่ละวันด้วย และพื้นที่ปลูกผักก็ต้องมีเพียงพอกับจำนวนผักที่จะปลูก ซึ่งน้ำจากรางระบบให้น้ำนี้จะมีส่วนผสมของอาหารต่างๆที่ติดมาจากปากเป็ด ละลายผสมอยู่ด้วย ทำให้น้ำจากส่วนนี้มีธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่พืชต้องการ สำหรับการน้ำเสียออกจากรางให้น้ำไปรดผักนั้น เราจะทำวันละ 3 ครั้ง คือเช้า กลางวัน เย็น เพื่อลดการหมักหมมของน้ำและทำให้มีของเสียเหลือทิ้งน้อยที่สุด ( Zero waste)
2.ระบบให้อาหารอัตโนมัติ
การทำงาน : เมื่ออุปกรณ์ตั้งเวลา(Timer)สั่งไฟจ่ายให้มอเตอร์ทำงาน และไฟจ่ายอุปกรณ์ตั้งเวลาแบบเข็ม (Timer)ตัวหน่วงเวลาพร้อมกัน มอเตอร์จะหมุนชุดใบสกรูขับอาหารออกมาตามเวลาที่ตั้งไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเป็ดและจำนวนที่เลี้ยง ถ้าเป็ดมีจำนวนมาก อาจตั้งเวลาในการปล่อยอาหารลงมานานกว่าเป็ดเล็ก หรือเป็ดที่มีจำนวนน้อยกว่า เมื่อครบเวลาอุปกรณ์ตั้งเวลาจะสั่งตัดไฟให้มอเตอร์และหยุดหมุน เป็นอันจบกระบวนการทำงานของเครื่องให้อาหาร
จำนวนเป็ดที่เลี้ยงในฟาร์มสามารถเลี้ยงตัวเมียได้ทั้งหมดประมาณ 50 แม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์อีกประมาณ10 ตัว รวมแล้ว 60 ตัว สำหรับการเลี้ยงเป็ดด้วยระบบฟาร์มแบบนี้ควรเป็นเป็ดที่เราเลี้ยงเองมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะเคยชินกับอาหารเม็ดที่ให้ แต่หากเป็นเป็ดที่โตมากับการเลี้ยงแบบชาวบ้านด้วยการให้หยวกกล้วยให้รำ บางตัวก็กินอาหารเม็ดของฟาร์ม บางตัวก็ไม่กิน บางตัวกินจนกระเพาะแตก เนื่องจากไม่รู้ว่าอาหารเม็ดเมื่อโดนน้ำจะพองตัว และทำให้กระเพาะแตก
3. ประตูเลื่อนเปิดปิดอัตโนมัติ
ประตูจะเปิดเมื่ออุปกรณ์ตั้งเวลา (Timer)สั่งไฟจ่ายให้มอเตอร์ทำงาน มอเตอร์ชุดเฟืองขับจะหมุนเฟืองตามโดยใช้โซ่เป็นตัวดึงไปจนชนลิมิตสวิตซ์ด้านหลังของราง ประตูจะหยุดทันที และประตูจะปิดเมื่ออุปกรณ์ตั้งเวลา(Timer)สั่งไฟจ่ายให้มอเตอร์ทำงาน มอเตอร์ชุดเฟืองขับจะหมุนเฟืองตามโดยใช้โซ่เป็นตัวดึงไปจนชนลิมิตสวิตซ์ด้านหลังของราง ประตูจะหยุดทันที เช่นในช่วงเช้าประตูจะเปิดออกโดยอัตโนมัติให้เป็ดเดินเล่นในพื้นที่โล่ง พอถึงช่วงเย็น ประตูจะค่อยๆปิดเพื่อต้อนให้เป็นเข้าคอก เป็ดจะได้ไข่ภายในคอกเพียงที่เดียว
4.ระบบควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือน
ส่วนประกอบ :
การทำงาน : ถ้าโรงเรือนอุณหภูมิสูงเกินที่กำหนด พัดลมจะช่วยดูดอากาศร้อนออกไปนอกโรงเรือน และหลอดไฟจะเป็นตัวช่วยเพิ่มอุณหภูมิในโรงเรือนในกรณีที่อุณหภูมิในโรงเรือนต่ำเกินไป โดยทำสั่งในการควบคุมอุณหภูมิจะมากจากตู้ควบคุมอิเล็กทรอนิค ซึ่งพื้นที่ของฟาร์มสามารถผลิตลูกเป็ดได้ประมาณ100ตัวต่อเดือนโดยไม่ได้ใช้ตู้ฟัก โดยเป็ดเนื้อจะใช้เวลาหลังจากฟักจนอายุ 3 เดือน หรือช่วงขนเต็ม ถ้าตัวผู้จะใช้ระยะเวลา 2 เดือน จึงสามารถจับขายได้
นวัตกรรมโรงเรือนอัฉริยะสามารถตอบโจทย์บุคคลทั่วไปที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงเล็กๆไว้ในบ้านได้ เพียงแต่ย่อขนาดของอุปกรณ์ต่างๆให้เหมาะสมกับสัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยง ซึ่งถ้าเป็นฟาร์มเลี้ยงสุนัข เราก็สามารถนำระบบการให้น้ำให้อาหารอัตโนมัติไปใช้ในฟาร์มได้เลย และระบบฟาร์มแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีอาชีพ หรือประจำอยู่แล้วสามารถนำระบบฟาร์มแบบนี้มาใช้เพื่อเป็นอาชีพที่ 2และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่ต้องการคนดูแลมาก และแทบไม่มีของเสียเหลือทิ้งจากฟาร์ม (Zero waste)
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 2/2560 "นวัตกรรมทำเกษตรน้ำน้อย จัดการน้ำในแปลงเกษตรหน้าแล้ง"
สั่งซื้อ ฉบับที่ 2/2560
21 ต.ค. 2562
17 ต.ค. 2562