Last updated: 19 ก.ย. 2562 | 2644 จำนวนผู้เข้าชม |
บ้านกินแดด โซลาร์เซลล์ 1 แผ่น แบตเตอรี่ 1 ลูก ในบ้าน 1 หลัง
“บ้านกินแดด” บ้านนี้ไม่ใช้ไฟฟ้า แต่ใช้ไฟจากแดด
ที่มูลนิธิพัฒนาอีสาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของศูนย์เน็ท จ.สุรินทร์ ได้จำลองบ้านตัวอย่างที่มีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้เพื่อสร้างแสงสว่างและสูบน้ำมาใช้ในการเกษตรที่ได้ประโยชน์จริง สมกับสโลแกนที่ว่า “ทำได้เอง ใช้ได้จริง”
บ้านหลังนี้มีชื่อว่า “บ้านกินแดด” หรือที่ภาษากัมพูชา เรียกว่า “ปะเตี๊ยะ ซี ไถง” เป็นบ้านพักเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิพัฒนาอีสานหลังเก่า มีอายุมากกว่า 25 ปี จำลองให้เป็นบ้านแบบกลางสวน ใต้ถุนยกสูงประกอบด้วย 2 ห้องนอน และ 1 ห้องน้ำ และมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกอย่างครบครันด้วยโซลาร์เซลล์เพียงแผ่นเดียว
“บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่ออกแบบและทำให้เห็นว่าใช้อุปกรณ์น้อยที่สุด แต่อยู่ได้ครบทุกความสะดวกสบายแบบที่บ้านหลังเล็กๆ หลังหนึ่งพึงจะมี ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นโซลาร์เซลล์ 1 แผ่น เป็นแผ่นโพลีคริสตัลไลน์ เป็นแผ่นขนาด 240 วัตต์ ซึ่งแผ่นพวกนี้ปกติที่เขาทำแผ่นออกมา เขาจะทำให้รองรับโวลต์แบตเตอรี่อยู่ 24 โวลต์ ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่ 2 ลูก แต่ว่าถ้าทำแบบนั้นต้องใช้อุปกรณ์มาก คือ เราต้องการวัตต์ 240 วัตต์ แต่เราต้องการ 12 โวลต์ และไม่ต้องการใช้แบตเตอรี่ 2 ลูก จึงได้ทำการตัดต่อแผ่น ให้เป็น 12 โวลต์ เพื่อให้ใช้แบตเตอรี่แค่ลูกเดียวก็เพียงพอสำหรับบ้านในสวนหลังนี้”
แค่ 12 โวลต์ มีครอบทั้งแสงสว่างและเครื่องใช้ไฟฟ้า
บ้าน 1 หลัง 1 โซลาร์เซลล์ 1 แผ่น แบตเตอรี่ 1 ลูก ก็เพียงพอสำหรับบ้านหลังนี้แล้ว ปกติแผ่นโซลาร์เซลล์แบบนี้ ถ้าแดดจัดๆ จะทำงานที่ 7 โวลต์ แต่ว่าตัวนี้พอทำทบแอมป์แล้วจะกลายเป็น 14 โวลต์ แบตเตอรี่ที่ใช้นั้นต้องประมาณ 10 เท่า ก็คือ 140 แอมป์ 140 แอมป์ไม่มี ก็ใช้ 160 แอมป์ เป็นแบตเตอรี่เพียงลูกเดียว ที่เรียกว่า Deep cycle battery
ในบ้านหลังนี้ถูกวางระบบการใช้ไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ทั้งหลัง โดยจะมีแผ่นโซลาร์เซลล์อยู่บนหลังคา 1 แผ่น เดินสายไฟและต่อไฟให้สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ เครื่องอำนวยความสะดวกเท่าที่บ้านหลังหนึ่งพึงจะมี เช่น ใช้หลอดไฟแบบ LED ส่องสว่างภายในบ้าน 4 ดวง และบริเวณรอบบ้านอีก 4 ดวง มีเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ดาวเทียม พัดลม ที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือ ไฟฉุกเฉิน เป็นต้น
ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ควบคุมการชาร์จ ไม่ใช้อินเวอร์เตอร์ ใช้แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านพอ
หลักการทำงานของการใช้ไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ของบ้านหลังนี้ คือ เมื่อไฟ 12 โวลต์ เดินกระแสมา จะเดินสายเข้าไปที่คัทเอาท์ก่อน คือ ปกติเวลาที่ใช้โซลาร์เซลล์จะต้องมีตัวชาร์จเจอร์ จะทำหน้าที่ดูโวลต์ แอมป์ ว่าเต็มหรือยัง และเป็นตัวที่ป้องกันไฟย้อนกลับ
การออกแบบหัวปลั๊กได้ดัดแปลงหัวปลั๊กมาจากที่จุดบุหรี่ภายในรถยนต์ เช่น ไฟ 12 โวลต์ ก็ต้องทำปลั๊ก 12 โวลต์ ซึ่งปลั๊กจุดบุหรี่ในรถยนต์มีไฟ 12 โวลต์พอดี และออกแบบให้เป็นปลั๊กพ่วง โดยใช้ท่อ PVC ขนาด 1 นิ้ว ทำออกเป็น 3 ทาง ใช้ได้ 3 ช่อง หัวแจ็คอย่างนี้มีข้อดี คือไม่สลับขั้ว บวกก็อยู่บวก ลบก็อยู่ลบ
บ้านหลังนี้ใช้งบประมาณทั้งหมด 30,000 บาท ไม่รวมราคาบ้านและที่ดิน ก็สามารถทำบ้านแบบนี้ได้แล้ว
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กับโซลาร์เซลล์
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้านหลังนี้ แตกต่างจากบ้านทั่วไปที่กระแสไฟ คือกระแสไฟของเครื่องใช้ภายในบ้านจะใช้ไฟ 220 โวลต์ แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กับโซลาร์เซลล์จะใช้ไฟเพียง 12 โวลต์ เช่น โทรทัศน์ ราคาประมาณ 4,000 บาท เครื่อง HTMI ที่ใช้ต่อมอนิเตอร์โทรทัศน์หรือต่อจอคอมพิวเตอร์ได้ นอกจากดูโทรทัศน์ได้แล้วยังใช้กับดาวเทียมได้ ซึ่งก็ใช้กล่องรับสัญญาณ
ดาวเทียมขนาด 12 โวลต์เช่นกัน ใช้พัดลมแบบที่ใช้กับโซลาร์เซลล์ก็ทำให้คลายร้อนได้เช่นกัน และยังใช้ชาร์จโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย
ส่วนแสงสว่างภายในบ้าน บ้านหลังนี้ใช้หลอดไฟแบบ LED มาต่อเรียงกัน กินไฟประมาณ 9 วัตต์ การเดินสายไฟเหมือนกับการเดินสายไฟในบ้านทั่วไป สวิตช์ไฟ โคมไฟก็ใช้เหมือนกับโคมที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
สูบน้ำเข้านาไม่ใช้น้ำมัน
เครื่องสูบน้ำด้วยระบบโซลาร์เซลล์นี้ ใช้โซลาร์เซลล์ ทั้งหมด 8 แผ่น จากโซลาร์เซลล์จ่ายตรงมาที่บอร์ดคอนโทรล เรียกว่าโมดูลอินเวอร์เตอร์ตัวนี้จะแปลงไฟโซลาร์เซลล์ให้เป็นไฟกระแสสลับ 3 เฟส เข้ามอเตอร์ 3 เฟส โดยไม่ต้องใช้เครื่องยนต์แล้ว เป็นเครื่องมอเตอร์ 2 แรง แล้วมาดัดแปลงใช้งานกับเครื่องสูบน้ำท่อพญานาคที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว ระยะที่ตั้งแผงกับระยะที่จ่ายไฟเข้ามาถึงปั๊มน้ำนั้นห่างกี่ร้อยเมตรก็ได้ เพราะเป็นไฟ 3 เฟส ก็เหมือนกับไฟกระแสสลับที่การไฟฟ้าส่งมา ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อป้องกันถูกขโมย เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็สามารถนำกลับบ้านได้ อุปกรณ์ที่เลือกใช้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก
“ระบบสูบน้ำแบบนี้ ลงทุนค่าแผ่นโซลาร์เซลล์ 9 แผ่น แผ่นละประมาณ 5,000 บาท โมดูล ราคา 6,000 บาท มอเตอร์ประมาณ 3,000 บาท รวมแล้ว 53,000 บาท ถูกกว่าซื้อเครื่องยนต์อีก แต่เครื่องนี้อยู่ได้ 20 ปี ขึ้นไป เราอยากให้เกษตรกรมาดูตัวอย่างและรวมกลุ่มกันทำ และเครื่องสูบน้ำอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องสูบน้ำรถเข็น ต้นแบบเครื่องนี้ได้มาจากผู้พันสุนทร ทิวาทรัพย์ จ.อุดรธานี โดยหากเกษตรต้องการจะสูบน้ำแล้วต้องขนแผ่นโซลาร์เซลล์ไปนา แบกไปใส่รถยกขึ้นยกลงลำบาก ใช้แบบนี้เกษตรกรสามารถเข็นไปยังที่ต้องการสูบน้ำ และเมื่อใช้งานเสร็จแล้วเกษตรกรก็สามารถเข็นรถเข็นกลับบ้าน โดยไม่ต้องห่วงว่าจะมีคนมาขโมย และโซลาร์เซลล์แบบรถเข็นนี้ยังมีข้อดี คือ สามารถหมุนตามดวงอาทิตย์ได้ และต่อตรงเข้าปั๊มน้ำได้เลย โดยใช้คัทเอาท์แค่ตัวเดียว แล้วต่อเข้าปั๊มน้ำแบบปั๊มไดโว่เท่านี้ชาวนาก็สามารถสูบน้ำเข้านาโดยที่ไม่ต้องง้อน้ำมันแล้ว”
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 2/2558 “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในบ้านเรือน Solar PV Rooftop”
สั่งซื้อ ฉบับที่ 2/2558
17 ต.ค. 2562
21 ต.ค. 2562