Last updated: 8 ต.ค. 2562 | 4066 จำนวนผู้เข้าชม |
“เราทำโครงสร้างบ้านเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์โดยเฉพาะ
เราเลยคุมให้องศาของแผงโซลาร์เซลล์เอียงประมาณ 14 องศา
และหันแผ่นไปทางทิศใต้ได้น้ำหนักการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
น่าจะอยู่ที่จะประมาณ 800 กิโลกรัมสำหรับ 20 ตารางเมตร ซึ่งมันก็ไม่มาก
โครงสร้างที่ออกแบบมารับน้ำหนักได้
เราใช้แผงแบบโพลีคริสตัลไลน์ (Poly crystalline)
คุณ Nico Stokvis
บ้านอยู่อาศัยรายแรกของประเทศไทย ขายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งด้วยแผงโซลาร์ ติดบนหลังคา
บ้านของ คุณฉัตรศรี สมมาตย์ และ คุณนิกโก Nico Stokvis ชาวเนเธอร์แลนด์ นับเป็นบ้านหลังแรกที่ติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาขนาดไม่ เกิน 10 กิโลวัตต์ (kWp) และจ่ายไฟฟ้าขายในระบบสายส่งได้เป็นรายแรกในภาคกลาง รวมทั้งเป็นรายแรกในประเทศไทยในโครงการโซลาร์รูฟท็อป สำหรับบ้านอยู่อาศัยนับตั้งแต่โครงการครั้งแรก
“เดิมทีเรามีความรู้เรื่องระบบโซลาร์เซลล์อยู่แล้ว ตามข้อมูลเรื่องโซลาร์เซลล์ในประเทศไทยมานาน พยายามจะทำมาหลายปีแล้ว พอมีการเปิดโครงการช่วงปลายปี 2556 เราถึงรีบสมัครและทำได้เร็วเพราะเตรียมการไว้แล้ว มีแผนไว้อยู่แล้วว่าเราจะใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ช่วงนั้นบางจากมีแผ่นโซลาร์เซลล์มือสองที่เคยใช้ในโครงการของเขาซึ่งเขาต้องการขายพอดี เราก็ได้แผ่นที่เป็นแบบคุณภาพดีมาในราคาที่ไม่แพง ตอนนั้นก็อยู่ที่ 4,000 บาทต่อแผง”
สร้างบ้านเพื่อรองรับระบบโซลาร์รูฟ ควบคุมองศา และทิศของแผงโซลาเซลล์ที่เหมาะสมได้
ลักษณะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ บนหลังคาที่บ้านคุณฉัตรศรีและคุณนิกโกเป็นรูปแบบของการทำโครงเหล็กขึ้นมารองรับน้ำหนัก ประกอบอะลูมิเนียมเฟรมสำหรับยึดตัวแผงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกติดตั้งบนหลังคาที่เป็นลักษณะของดาดฟ้า โดยที่บ้านถูกวางแผนสร้างขึ้นในแบบที่แนวอาคาร ยาวไปทางทิศเหนือใต้อยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้การจัดวางแผ่นโซลาร์เซลล์เป็นไปตามหลักการสำหรับภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทย รวมไปถึงการที่ไม่ถูกความเอียงของหลังคาเป็นตัวบังคับ องศาของแผงที่ติดตั้งภายหลัง การทำโครงขึ้นมาใหม่บนดาดฟ้าจึงช่วยควบคุมองศาของแผงให้เอียงได้ตามที่ ต้องการ
พื้นที่การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนดาดฟ้าของคุณนิกโกและคุณฉัตรศรี จากกำลังการผลิต 9.8 กิโลวัตต์ แบ่ง พื้นที่ดาดฟ้าออกเป็น 2 ฟาก สำหรับบ้าน 2 หลัง แต่ละฟากจะมีชุดโครงเหล็ก อะลูมิเนียมเฟรม และแผ่นโซลาร์เซลล์ อินเวอร์เตอร์ กล่องควบคุมโดยแยกกันต่างหาก ฟากหนึ่งจะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาดกว้าง x ยาว x หนา เท่ากับ 1 เมตร x 2 เมตร x 50 มิลลิเมตร จำนวน 35 แผง ประกอบกันเป็น 5 แถว แถวหนึ่งจัดวางได้ถึง 7 แผ่น กำลังการผลิตต่อแผง เท่ากับ 280 วัตต์ ดังนั้น 35 แผง x 280 วัตต์ เท่ากับ 9,800 วัตต์ หรือ 9.8 กิโลวัตต์ ในจำนวนแผง 35 จะแบ่งส่วนเพื่อต่อวงจรเข้าสู่อินเวอร์เตอร์ 2 ตัว ซึ่งจะทำเป็นโดมสี่เหลี่ยมกันแดด กันฝนไว้ที่กึ่งกลางดาดฟ้าเพื่อเก็บชุดควบคุมและอินเวอร์เตอร์ไว้ภายในบนดาดฟ้าจึงมีแผ่นโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 70 แผง ที่ผลิตไฟฟ้าเข้าสู่สายส่ง มีชุดอินเวอร์เตอร์ทั้งหมด 4 ตัว ที่ทำหน้าที่แปลงไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับจ่ายผ่านมิเตอร์เข้าสายส่ง
ลงทุนด้วยแผงโซลาร์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการทดสอบ คุณภาพ คุ้มค่าในระยะยาว
“สำหรับการลงทุนในโครงการแรกสำหรับบ้านหลังเดียวอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าบาท ทั้งการทำโครงรับแผงโซลาร์เซลล์มือสอง อินเวอร์เตอร์และชุดอุปกรณ์ทั้งหมด แต่สำหรับบ้านหลังใหม่เราจะใช้แผ่นโซลาร์เซลล์ใหม่ ใช้แผ่นที่มีศักยภาพการผลิตมากกว่าเดิม ในเยอรมันมีการนำแผ่นไปทดสอบแล้ว ก็ดูศักยภาพการผลิตว่าเป็นเท่าไรในรอบ 25 ปี เราก็เลือกระดับ Top Ten เอาที่ค่าการผลิตดีมาก เราเลือกยี่ห้อ และรุ่นที่ได้การรับรอง มันก็เลยจะแพงกว่าเป็นหลังละประมาณ 5 แสนบาท รวมค่าติดตั้งทุกอย่างแล้ว”
“ถ้าเปิดดูเว็บไซต์ของเยอรมันจะมีการทดสอบแผงโซลาร์เซลล์แต่ละ ยี่ห้อและรุ่น ถ้าคิดจะเลือกซื้อแผ่นที่ราคาถูก คุณภาพมันก็จะไม่ดี ศักยภาพการผลิตจะไม่ดี และจะลดลงไปในรอบ 25 ปี ที่เราซื้อของถูกแล้วอาจคิดว่า เป็นการประหยัดเงิน แต่จริงๆ แล้วไม่เลย คุณประหยัดเงินกับเรื่องนี้ในวันนี้ คุณจะสูญเสียเงินในวันต่อๆ ไป นอกจากแผ่นโซลาร์เซลล์แล้ว เขาก็มีการตรวจสอบตัวอินเวอเตอร์ยี่ห้อต่างๆ ด้วย เราควรเข้าไปตรวจเช็คก่อนจะลงทุนเพราะมันเป็นการลงทุนระยะยาว อันที่ผ่านการทดสอบแล้ว เราก็จะรู้ได้ว่ายี่ห้อไหนรุ่นไหนศักยภาพการผลิตดี ศักยภาพการผลิตลดลง ลดลงในปริมาณที่น้อยในช่วง 25 ปี”
อินเวอร์เตอร์อุปกรณ์สำคัญในการแปลงไฟฟ้าขายแบบคุณภาพสูง ตรวจเช็คการทำงานย้อนหลังได้
“พอเราใช้อินเวอเตอร์ที่ราคาสูง มีคุณภาพ มันจะช่วยเราตรวจสอบได้ เดือนหนึ่งก็ขึ้นมาดูที มันก็จะเก็บข้อมูลว่ามี Error บ้างไหม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ถ้า Error อย่างไร เราก็ไปดูในคู่มือ ถ้าในคู่มือไม่มีเราก็สามารถโทรไป ถามเขาได้ ถ้ารู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่เราสับสวิตช์แล้วเรียกช่างมาตรวจ ของดี ระบบมันปลอดภัยเพราะถ้ามันมีปัญหา มันก็ตัดระบบตัวเองได้ มันไม่เหมือนของราคาถูกคุณภาพไม่ดีที่ตรวจเช็ค หรือแสดงผลไม่ได้เลย ถ้าระบบของอุปกรณ์ที่เราใช้มันดีเราก็จะไม่ปวดหัว เพราะเราเคยใช้ของไม่ดีมาซึ่งมันมีปัญหาเรื่องแรงดันไฟฟ้าไม่เสถียร เราแก้ปัญหาเองไม่ได้ ถามช่างเขาก็แก้ไม่ได้อีเมล์ถามไปที่ประเทศต้นสังกัดก็แก้ไม่ได้”
กระบวนการยื่นเรื่องจนถึงขายไฟฟ้าได้อยู่ภายใน 1 ปี การชำระเงินแก่ผู้ผลิตมีระบบระเบียบ
“ตอนที่เขามาตรวจเช็คระบบมีเจ้าหน้าที่มาถึง 15-16 คน อาจเป็นเพราะบ้านเราเป็นหลังแรกที่ได้ขายไฟฟ้าเข้าสายส่งการไฟฟ้าในโครงการโซลาร์รูฟท็อป เจ้าหน้าที่มาจากทั้งกรุงเทพ ชลบุรี บางละมุง มาถึงก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรยังไง เพราะมันเป็นหลังแรก เขาก็มาประชุมวางแผนกันที่นี่แล้วก็มาตกลงกันได้ที่นี่ สิ่งที่เจ้าหน้าที่เรียกเก็บจากเราจะมีแค่ค่ามิเตอร์สำหรับขายไฟฟ้า 10,000 บาท นอกนั้นเป็นส่วนที่เราต้องลงทุนเอง ในส่วนการจ่ายเงินแก่ผู้ผลิตไฟฟ้า แต่เดิมมิเตอร์ซื้อกับมิเตอร์ขายเขาจะมาจดคนละวัน ตอนนี้ก็มาจดวันเดียวกัน เขาจะมาทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยจะโทรมานัดเราก่อนมีเอกสารให้เซ็นรับ พอหลังจากเช็คออก ก็จะโทรมาบอกเรา ซึ่งไม่เกิน 12-13 วัน เราไปรับเช็คที่พัทยา เพราะมิเตอร์ไฟขึ้นกับพัทยา ตอนนี้ยังเป็นรูปแบบรับเช็คเองอยู่ แต่ต่อไปเขาว่าจะเป็นระบบโอนเงินเข้าบัญชีซึ่งก็จะสะดวกขึ้น”
ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ 2/2558 “การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าในบ้านเรือน Solar PV Rooftop”
สั่งซื้อ ฉ.2/2558
21 ต.ค. 2562
17 ต.ค. 2562