นวัตกรรมเลี้ยงไส้เดือนชั้นล่าง ปลูกผักกระถางชั้นบน

Last updated: 16 ต.ค. 2562  |  17821 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นวัตกรรมเลี้ยงไส้เดือนชั้นล่าง ปลูกผักกระถางชั้นบน

Worm’s Mini Homestay นวัตกรรมเลี้ยงไส้เดือนชั้นล่าง ปลูกผักกระถางชั้นบน


 “ในต่างประเทศที่อากาศหนาวมากๆ เขาต้องเลี้ยงไส้เดือนในโรงเรือนที่สามารถปรับอุณหภูมิให้อุ่นขึ้นได้ แต่บ้านเราสามารถเลี้ยงปล่อยข้างนอก ในสภาพทั่วไปได้ทั้งหมด อีกทั้งการเลี้ยงในเขตร้อน ไส้เดือนสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วกว่าเขตหนาว”

 อาจารย์สมชัย จันทร์สว่าง



       อาจารย์สมชัย จันทร์สว่าง อดีตอาจารย์ประจำคณะสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่ทดลองเลี้ยงไส้เดือนเพื่อกำจัดขยะอินทรีย์มายาวนาน มีการเปิดอบรมการเลี้ยงไส้เดือนแก่คนที่สนใจไปเลี้ยงในระดับครัวเรือนและเลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่­่ สายพันธุ์ที่มีการส่งเสริมในการเลี้ยงคือ สายพันธุ์แอฟริกา สายพันธุ์ยุโรป และสายพันธุ์อินเดีย มีการนำรูปแบบการเลี้ยงแบบง่ายๆ มาเผยแพร่ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ในแง่มุมเกี่ยวกับการนำไส้เดือนสายพันธุ์ต่างประเทศเข้าเลี้ยงในระบบนิเวศน์ประเทศไทย


ไส้เดือนไทเกอร์ สายพันธุ์มาแรง ทนร้อนทนหนาว กำลังเป็นที่ต้องการ
       ไส้เดือนพันธุ์ไทเกอร์เป็นพันธุ์ที่มีการเลี้ยงอันดับ 1 ในประเทศอินเดีย ซึ่งแท้จริงเป็นสายพันธุ์จากทางยุโรปอยู่ในเขตหนาว ในประเทศไทยก็มีการนำเข้ามาเลี้ยงตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน แต่ยังไม่เป็นที่นิยมในช่วงแรก เนื่องจากตัวเล็กกว่าพันธุ์แอฟริกา อัตราการกินในระยะเวลาเท่ากันจะสู้พันธุ์แอฟริกาไม่ได้ ฟาร์มทั่วไปยังไม่ค่อยมีการเลี้ยงสายพันธุ์นี้เท่าไร แต่อาจารย์สมชัยก็เลี้ยงสายพันธุ์นี้ไว้มาโดยตลอดเป็นเวลา 10 กว่าปี นับรวมก็ได้ 50 กว่า Generation เรียกว่าแม้เป็นพันธุ์ต่างประเทศก็ออกลูกหลานมาใหม่หลายรุ่น ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับตัวในสภาพแวดล้อมในประเทศไทยมาอย่างยาวนานแล้ว จนศักยภาพในการกินเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และปลายปี 2556 ที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศหนาวมากยาวนานกว่าปีอื่นๆ ก็มีเรื่องน่าประหลาดใจเกี่ยวกับพันธุ์นี้ให้พบเห็น
     

      อาจารย์สมชัยกล่าวว่า "ไส้เดือนพันธุ์แอฟริกา (Eudrilus eugeniae)  เป็นคนแอฟริกันผมหยิกผิวดำ ไส้เดือนพันธุ์ไทเกอร์ (Eisenia fetida) เป็นคนยุโรปหัวเหลือง ส่วนพันธุ์บลูเวิร์ม (Perionyx excavates) เป็นคนเอเชีย ผิวเหลือง ผมดำ นึกภาพพันธุ์ไทเกอร์ทนร้อนก็สามารถเทียบเคียงได้กับคนยุโรปมาแต่งงานกับคนเอเชีย สามารถอยู่ในอากาศร้อนอบอ้าว ถอดเสื้อตากแดดทำงานกลางแจ้งได้ แนวโน้มพันธุ์ไส้เดือนที่จะนิยมใช้มากขึ้นจึงดูท่าว่าจะเป็นพันธุ์ไทเกอร์ สายพันธุ์อื่นเป็นสายพันธุ์รอง"

ในต่างประเทศเลี้ยงหลายพันธุ์รวมกันเพื่อเน้นผลิตปุ๋ย
       “ปัจจุบันที่เราเลี้ยง 90% จะเป็นพันธุ์ไทเกอร์ เพราะตอนนี้พันธุ์แอฟริกันหาได้ง่าย แต่ไทเกอร์ยังมีน้อยอยู่ อัตราการให้ลูกของไทเกอร์ดี ระยะเวลาการฟัก 2-3 สัปดาห์ เลี้ยงไม่ยาก ตอนนี้กินเก่งพอๆ กับพันธุ์แอฟริกา แม้ขนาดจะเล็กกว่าแอฟริกา แต่โดยน้ำหนักจะพอๆ กัน พื้นที่บ้านแค่ 50 ตารางวา สามารถเลี้ยงไส้เดือนขายปุ๋ยได้เดือนละ 1-2 ตัน ขายพันธุ์ไส้เดือนได้เดือนละ 20-30 กิโลกรัม กิโลกรัมหนึ่งก็ราว 400-500 ตัวได้ โดยที่สายพันธุ์แอฟริกาจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 500 บาท ส่วนสายพันธุ์ไทเกอร์ที่ยังยากและมีน้อยอยู่จะขายที่กิโลกรัมละ 1,500 บาท ซึ่งนำไปเลี้ยงได้ทั้งกำจัดขยะอินทรีย์ ผลิตมูลและน้ำสกัดมูลไส้เดือน เอาไปขยายพันธุ์ หรือใช้เป็นเหยือตกปลาแบบที่ชาวยุโรปและอเมริกาใช้”



ปลูกพืชกระถางผสานเลี้ยงไส้เดือนในบ้าน ผลิตมูล น้ำสกัด ส่งเสริมวิจัยแปรรูป
        บ้าน 50 ตารางวาแบ่งส่วนอย่างเป็นระบบ การเลี้ยงในลิ้นชักและกะละมังซ้อนกันจะอยู่ด้านใน รวมถึงพื้นทีบรรจุปุ๋ยและน้ำสกัดมูลไส้เดือนเพื่อจำหน่ายด้วย ส่วนนี้จะมีหลังคาคลุมเพื่อป้องกันความร้อนอย่างดี ด้านหน้าบ้านเป็นรูปแบบการเลี้ยงอีกแบบ โดยจะทำเป็นบ่อปูนมีกรอบยกสูงขึ้นมาจากพื้น 5 นิ้ว บรรจุวัสดุเพาะเลี้ยง มุมของบ่อตั้งโครงเสาขึ้นมาเชื่อมกับตะแกรงด้านบนเพื่อเป็นพื้นที่จัดวางพืชกระถาง ด้านบนจะขึงแสลนดำเพื่อป้องกันความร้อน ที่น่าสนใจคือมีการติดตั้งระบบให้น้ำแบบยูเร็ม เมื่อเปิดน้ำให้กับพืชกระถางที่ด้านบน ละอองน้ำก็จะลงไปที่บ่อเลี้ยงไส้เดือนด้วย ทั้งที่ได้รับโดยตรงและโดยอ้อมจากน้ำที่ซึมมาจากก้นกระถาง ที่มากไปกว่านั้นยังมีการติดตั้งพัดลมเพื่อดูดละอองน้ำไปช่วยลดอุณหภูมิในพื้นที่ที่เลี้ยงแบบลิ้นชักและกะละมังอีกด้วย เห็นรูปแบบการเลี้ยงในบ้านเช่นนี้ก็เหมือนกับเป็น Home Stay สำหรับไส้เดือนเลยก็ว่าได้



รูปแบบการเลี้ยงไส้เดือนควบคู่ปลูกผักกระถาง
       การเลี้ยงไส้เดือนในพื้นที่บ้าน โดยใช้พื้นปูนเลี้ยงภายใต้ร่มเงาของแสลนที่ขึงกันแดด พื้นปูนที่ใช้เลี้ยงจะตีกรอบปูนล้อมรอบวัสดุเลี้ยง สูงขึ้นมาจากพื้นประมาณ 5 นิ้ว กว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 5-6 เมตร ตั้งโครงเหล็กเป็นเสาทั้งสี่ด้านของบ่อและทำชั้นเพื่อจะวางพืชกระถางไว้ด้านบนบ่อเลี้ยง ชั้นวางพืชกระถางด้านบนจะสูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร



     

    วัสดุเพาะเลี้ยง (Bedding) ใช้มูลวัวและขุยมะพร้าวในอัตราส่วน 2:1 ปูรองพื้นก่อนจะวางไส้เดือนที่พร้อมจะออกไข่ลงไป และกลบทับด้วยวัสดุเพาะเลี้ยงอีกทีให้ได้ความสูงของวัสดุเพาะเลี้ยงสูงจากพื้นขึ้นมาประมาณ 3-4 นิ้ว

  ระบบให้น้ำและลดความชื้น ใช้ระบบยูเร็มพ่นหมอกโดยเชื่อมสายต่อไปที่ด้านบนที่เป็นโครงสร้างขึงแสลนกันแดด ห้อยสายที่ติดตัวพ่นน้ำลงมาจาก แสลนประมาณ 1 เมตร ตัวพ่นละอองน้ำจะอยู่เหนือชั้นที่จัดวางผักกระถางขึ้นไปประมาณ 2 เมตร ทำการพ่นน้ำเพื่อให้น้ำพืชกระถางและบ่อไส้เดือนที่อยู่ด้านล่างวันละ 1 ครั้ง ประมาณบ่าย 2 โมง ถึงบ่าย 4 โมง ด้านข้างของตำแหน่งที่หัวพ่นน้ำห้อยลอยอยู่จะติดตั้งพัดลมเพื่อดูดหมอกน้ำที่พ่นออกไปลดอุณหภูมิในพื้นที่ที่เลี้ยงไส้เดือนในลิ้นชักและกะละมังด้วย ความชื้นในบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% หลังจากดูดไอหมอกประมาณ 1 ชั่วโมง



   

     การให้อาหารไส้เดือน ใช้เศษผักเป็นอาหาร ควรจะเป็นผักที่ไม่มีสารเคมีเจือปน สับย่อยให้เป็นชิ้นเล็กก่อนเพื่อให้ไส้เดือนกินได้ง่าย โรยบนวัสดุเพาะเลี้ยงและกลบปิด อาหารอีกอย่างที่ไส้เดือนกินได้ง่ายและมีโปรตีนสูงคือกากเต้าหู้ที่ผ่านการคั้นน้ำเต้าหู้แล้ว นำมาโรยบนวัสดุเพาะเลี้ยงแล้วกลบให้มิด การให้อาหารไส้เดือนจะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง



     การเก็บไส้เดือน เก็บไส้เดือนที่โตเต็มไวพร้อมจะให้ลูกแล้ว โดยสังเกตจากขนาดตัวที่โตเต็มที่และดูตัวที่มีแทนทาลัม (Tantalum) ส่วนที่เหมือนปลอกคอของไส้เดือน ซึ่งบ่งบอกว่าสามารถออกไข่ได้แล้ว หากเริ่มต้นเลี้ยงไส้เดือนที่ 1,000 ตัว เลี้ยงไป 1 ปี จะได้ไส้เดือนเพิ่มเป็น 1 ล้านตัว

       การเก็บปุ๋ยมูลไส้เดือนและเปลี่ยนวัสดุเลี้ยง หลังจากเลี้ยงไปได้ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ให้เก็บมูลไส้เดือนเพื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ย รวมถึงเปลี่ยนวัสดุเพาะเลี้ยงใหม่ จากนั้นจึงนำไส้เดือนกลับมาลงเลี้ยงเช่นเดิม หากอากาศร้อนให้ใช้ถุงกระสอบคลุมวัสดุเพาะเลี้ยงเพื่อกันความชื้นจากวัสดุเพาะระเหยไป



       ลักษณะมูลไส้เดือน มูลไส้เดือนจะมีความร่วนละเอียด จับดูจะมีลักษณะลื่นๆ มือ เป็นก้อนเล็กๆ ในขณะที่มูลสัตว์จะแห้งๆ แข็งๆ เนื้อหยาบกว่า ซึ่งจะแยกออกได้อย่างชัดเจน

      ประโยชน์ของปุ๋ยมูลไส้เดือน  น้ำชะมูลไส้เดือน และน้ำสกัดมูลไส้เดือน จะช่วยบำรุงพืชที่ไม่ออกดอกออกผลให้สามารถติดดอกออกผลได้ตามปกติ รวมทั้งช่วยให้พืชบางอย่างออกผลในหน้าแล้งโดยไม่ต้องใช้วิธีงดน้ำหรือบังคับด้วยวิธีใดๆ เช่น มะนาว ส้มจี๊ด เป็นต้น



แนวทางการผลิตปุ๋ยน้ำจากปุ๋ยมูลไส้เดือนแห้ง (Worm Tea)
      แบบที่ 1 ปุ๋ยน้ำชะ เป็นน้ำที่ไหลผ่านมูลไส้เดือนและมูลสัตว์ที่เป็นวัสดุเลี้ยงจากการเลี้ยงด้วยภาชนะต่างๆ เช่น ลิ้นชัก กะละมัง ท่อซีเมนต์ เป็นต้น ซึ่งจะชะเอาธาตุอาหารบางส่วนจากมูลเหล่านั้นมาอยู่ในน้ำ สามารถนำไปใช้รดพืชได้ ปุ๋ยน้ำจากมูลไส้เดือนที่ได้จากวิธีนี้จะสีจาง เป็นปุ๋ยน้ำที่ไม่เข้มข้น เพราะเป็นเพียงน้ำที่ชะผ่านมูลไส้เดือนในช่วงเวลาสั้นๆ ประสิทธิภาพไม่ดีมาก สามารถนำไปรดพืชโดยที่ไม่ต้องเจือจางด้วยน้ำหรือจะเจือจางก็ได้



     แบบที่ 2 ปุ๋ยแช่น้ำ รูปแบบนี้จะใช้มูลไส้เดือนที่ผ่านการแยกไส้เดือนและไข่ออกไปแล้ว รวมทั้งทิ้งไว้ให้มีการย่อยสลายประมาณ 1 เดือน เป็นปุ๋ยหมักโดยสมบูรณ์แล้ว โดยนำมูลไส้เดือนนี้มาแช่ในน้ำ อัตรามูลไส้เดือน 1 ส่วน น้ำสะอาด 10 ส่วน (สามารถใช้น้ำประปาที่ทิ้งให้คลอรีนระเหยไปแล้วได้) แช่มูลไส้เดือนในน้ำราว 2-3 วัน น้ำจะละลายธาตุอาหารต่างๆ ฮอร์โมนพืช และจุลินทรีย์ที่อยู่ในมูลไส้เดือนมาอยู่ในน้ำที่แช่ แยกน้ำและมูลไส้เดือนออกจากกัน (กรณีแช่มูลไส้เดือนลงในถังน้ำเลย) หรือยกถุงตาข่ายบรรจุมูลไส้เดือนออกจากถังน้ำ (กรณีบรรจุมูลไส้เดือนในถุงตาข่ายแช่ลงน้ำ) น้ำปุ๋ยน้ำมูลไส้เดือนที่แช่ไว้ไปใช้รดพืชโดยเจือจางน้ำ 20 เท่า

    แบบที่ 3  ปุ๋ยแช่น้ำเพิ่มสารอาหาร รูปแบบนี้จะทำเช่นเดียวกับวิธีในแบบที่ 2 เพียงแต่จะมีการเพิ่มวัตถุดิบบางอย่างให้เป็นอาหารของจุลินทรีย์ เช่น กากน้ำตาล รำข้าว ฯลฯ สำหรับกากน้ำตาลจะใช้สัดส่วน 1% ของน้ำ จุลินทรีย์ที่ถูกละลายมาอยู่ในน้ำจะได้รับสารอาหารเพื่อที่จะได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น แช่เป็นเวลา 2-3 วัน จึงนำเอาไปใช้รดพืชโดยเจือจางน้ำ 20 เท่า

   แบบที่ 4 ปุ๋ยแช่น้ำแบบเติมออกซิเจน นำมูลไส้เดือนบรรจุในถุงตาข่ายแช่ลงน้ำ ใช้มูลไส้เดือน 1 ส่วน กับน้ำ 10 ส่วน ใช้เครื่องให้ออกซิเจนตู้ปลาเติมออกซิเจนให้น้ำที่แช่มูลไส้เดือนไว้ เติมออกซิเจนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าจะไม่มีกลิ่นเหม็น แช่หมักนานอย่างน้อย 2-3 วัน สามารถนำไปใช้รดพืชได้ โดยก่อนใช้ต้องเจือจางกับน้ำ 20 เท่า การเติมอากาศจะช่วยเพิ่มจำนวนให้จุลินทรีย์ที่ต้องการออกซิเจน (Aerobic Microorganism)


   

      แบบที่ 5 ปุ๋ยแช่น้ำแบบเติมออกซิเจนและเพิ่มสูตรสารอาหาร ทำวิธีเดียวกับแบบที่ 4 โดยนำมูลไส้เดือนบรรจุในถุงตาข่ายแช่ลงน้ำ ใช้มูลไส้เดือน 1 ส่วน กับน้ำ 10 ส่วน ใช้เครื่องให้ออกซิเจนตู้ปลาเติมออกซิเจนให้น้ำที่แช่มูลไส้เดือนไว้ เติมออกซิเจนเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยหรือจนกว่าจะไม่มีกลิ่นเหม็น แต่ที่พิเศษคือปุ๋ยน้ำสูตรนี้จะมีการเพิ่มสารอาหารลงไปเพื่อให้ปุ๋ยน้ำมูลไส้เดือนมีธาตุอาหารตามต้องการ ซึ่งจะมีผลให้ต้องเติมออกซิเจนนานขึ้นเพื่อให้เกิดการย่อยสลายสมบูรณ์ อาจต้องเติมออกซิเจนประมาณ 1 สัปดาห์ วัตถุดิบที่เพิ่มเติมเข้าไปจะขึ้นอยู่กับการออกแบบ เช่น นมสด กลูโคส เป็นต้น เพื่อที่เมื่อนำปุ๋ยน้ำมูลไส้เดือนไปตรวจวิเคราะห์แล้วจะได้ธาตุอาหารตามต้องการ อาจเป็นสูตรที่ออกแบบเพื่อนำไปใช้เฉพาะทางกับพืชที่ต้องการได้

ไส้เดือนไทเกอร์สายพันธุ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ไส้เดือนไทเกอร์ หรือไส้เดือนลายเสือ (ชื่อสามัญ­ Tiger worms, Banding worms ชื่อวิทยาศาสตร์ Eisenia fetida) เป็นไส้เดือนที่มีถิ่นกำเนิดในสภาพอากาศหนาวของทวีปยุโรป ข้อดีของไส้เดือนไทเกอร์คือ เลี้ยงง่าย ทนสภาพอากาศร้อนหนาวได้สูง กินเก่ง สามารถกำจัดขยะอินทรีย์และผลิตมูลได้มาก เจริ­เติบโตเร็ว และให้ลูกมาก

     

    ไส้เดือนไทเกอร์สายพันธุ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นไส้เดือนไทเกอร์ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ในสภาพอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย โครงการวิจัยการเลี้ยงไส้เดือนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้นำไส้เดือนไทเกอร์เข้ามาศึกษาในปี พ.ศ. 2543 และได้ทำการผสมพันธุ์ ปรับปรุงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาประมาณ 52 ชั่วอายุ จนได้สายพันธุ์ไส้เดือนไทเกอร์ที่สามารถทนสภาพอากาศร้อนในประเทศไทยได้สูงขึ้น ขณะที่ยังคงความสามารถที่จะทนอยู่ในสภาพอากาศหนาวได้

  ไส้เดือนไทเกอร์สายพันธุ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีลำตัวอ้วนสั้น น้ำหนักเมื่อโตเต็มวัยเฉลี่ย 0.5 กรัม ยาวประมาณ 2-4 นิ้ว ลำตัวมีสีแดงสลับสีเหลืองเป็นลายเสือ ระยะเวลาโคคูนฟัก 18-26 วัน ระยะเวลาลูกไส้เดือนเล็กเจริ­เติบโตเป็นหนุ่มสาว 28-30 วัน วงจรชีวิตใช้เวลา 45-51 วัน สภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม 25 ºC-30 ºC แต่ทนความหนาวได้ถึง 0 ºC และทนความร้อนได้ถึง 40 ºC

  ข้อมูลจาก วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับ 5/2558 “นวัตกรรมการเลี้ยงไส้เดือนเชิงพาณิชย์”

สั่งซื้อ  ฉ.5/2558

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้